ข้อเสนอสีเขียว : แม่วากโมเดล รูปธรรมบูรณาการจัดการดินน้ำป่า สู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ภายใต้แม่แจ่มโมเดลและแม่แจ่มโมเดลพลัส
ข้อเสนอสีเขียว : แม่วากโมเดล
รูปธรรมบูรณาการจัดการดินน้ำป่า
สู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย
ภายใต้แม่แจ่มโมเดลและแม่แจ่มโมเดลพลัส
สมเกียรติ มีธรรม
บ้านแม่วาก
หมู่ 6 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัด มีประชากร 321 คน 101
ครัวเรือน มีพื้นที่ทั้งหมด 5,655.63 ไร่ การถือครองที่ดินมีทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์
โดยแบ่งพื้นที่ตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
1.
พื้นที่เกษตรกรรม มีจำนวนแปลง 328 แปลง 158 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 1,817.20 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 33.95 ของพื้นที่ทั้งหมด ในจำนวนนี้ร้อยละ 66.80
เป็นพื้นที่ไร่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 191 แปลง คิดเป็นพื้นที่จำนวน 1,213.81 ไร่
2. ที่อยู่อาศัย มีพื้นที่จำนวน
64.98 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.21 ของพื้นที่ทั้งหมด
3. พื้นที่ป่า
แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ พื้นที่ป่าใช้สอย มีพื้นที่จำนวน 1,165.85 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 21.78 และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 2,304.39 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 43.05 ของพื้นที่ทั้งหมด 1
แผนภูมิแสดงสัดส่วนการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรม
จากแผนภูมิดังกล่าวพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพืชเชิงเดียวร้อยละ
66.80 ของพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก หากถึงฤดูแล้งก็ไม่สามารถเพาะปลูกได้
ซ้ำร้ายกว่านั้น ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี ก็ประสบกับปัญหาหมอกควันไฟป่าและจากการเตรียมพื้นที่การเกษตร
ส่วนในฤดูฝนก็ประสบปัญหาการชะล้างหน้าดินจนเสื่อมสภาพ ทำให้ผลผลิตตกต่ำ และปัญหาการใช้สารเคมีการเกษตร
จนกระทบต่อระบบนิเวศของพื้นที่ลุ่มน้ำและสุขภาพของเกษตรกร
เพื่อปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชเชิงเดียวมาเป็นการปลูกพื้นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
องค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาครัฐ จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการเชื่อมต่อระบบน้ำเกษตรยั่งยืนฟื้นป่าสร้างรายได้ร่วมกับชุมชน
โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะด้วยกันคือ
ระยะที่ 1 วางระบบน้ำเกษตรยั่งยืน
ได้ริเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 โดยโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พัฒนาที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาจร
ได้วางท่อส่งน้ำจากต้นน้ำบ้านแม่มะลอ หมู่ 9 เป็นระยะทาง
3,650 เมตร ด้วยงบประมาณจำกัด ทำให้การวางระบบน้ำมาไม่ถึงพื้นที่ทำกินของเกษตรกร
พอปีพ.ศ. 2560 ได้ขอรับการสนับสนุนระบบส่งน้ำจากมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์
เป็นระยะทาง 2,200 เมตร และบ่อพักน้ำหลัก ขนาด 20 x 30 x 3 เมตร จำนวน 1 บ่อ ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างโดยชุมชนเป็นแกนกลางจนบรรลุเป้าหมาย
แต่ก็ไม่สามารถกระจายน้ำในพื้นที่เกษตรบนสันเขาได้
ในปีพ.ศ.2561 มูลนิธิฮักเมืองแจ๋ม
สถาบันอ้อผะหญา(องค์กรสาธารณประโยชน์) จึงได้ประสานขอรับการสนับสนุนระบบส่งน้ำและบ่อพวงในพื้นที่การเกษตรจำนวน
1,817.20 ไร่ 328 แปลง 158 ราย เพิ่มเติมจากมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิเอสซีจี
การยาสูบแห่งประเทศไทย บริษัทเอส บี
พี ทิมเบอร์กรุ๊ป มูลนิธิไทยรักษ์ป่า และโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน (Haze
Free Thailand) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นระยะทาง 2,674 เมตร
พร้อมกับขุดบ่อพวงและปูพื้นพลาสติก PE ขนาด 10 x 10 x 3 เมตร อีกจำนวน 6 บ่อ ให้กับชุมชนจนสามารถวางระบบน้ำครอบคลุมพื้นที่เกษตรบนสันเขา
ระยะที่ 2 ฟื้นป่าสร้างรายได้
ปรับเปลี่ยนพืชเชิงเดียวมาปลูกพืชผสมผสานและวนเกษตรตามความสมัครใจของเกษตรกร โดยปลูกไม้ผลผสมไม้ป่า
ปลูกไผ่ และกาแฟ เป็นไม้เบิกนำ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างรายได้ระยะกลางและระยะยาวให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
โดยมีมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ เข้ามาหนุนเสริมปลูกไผ่ผสมผสานร่วมกับภาคีเครือข่าย
และมูลนิธิอุ่นใจเข้ามาหนุนเสริมสร้างรายได้จากไบโอชาและปุ๋ยอินทรีย์ให้กับเกษตรกร
ปัจจุบัน มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนการผลิตในระยะเริ่มแรก
รอบๆพื้นที่รับน้ำจากบ่อพวงที่กระจายอยู่ในพื้นที่สูง 7 บ่อ จำนวน
22 ราย 25 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 243.17 ไร่
โดยทางโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
จัดหาท่อซีเมนต์และวางระบบท่อส่งน้ำในพื้นที่การเกษตรให้กับชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืช
ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการวางระบบน้ำเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และกำลังเข้าสู่การปรับเปลี่ยนพืชเชิงเดียวมาปลูกผสมผสานหรือวนเกษตรในฤดูฝนปีพ.ศ.2562
แต่ทว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวมานี้
หากชุมชนไม่มีความพร้อมก็คงเป็นไปได้ยาก เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่ทำให้บ้านแม่วากมาถึงวันนี้ได้
ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการด้วยกัน คือ
1. ชุมชนช่างฝันร่วมกันขับเคลื่อน
บ้านแม่วากเป็นชุมชนขนาดกลาง ที่ผู้นำชุมชนและชาวบ้านต่างฝันเห็นสิ่งดีงามเข้ามาในชุมชนของตนเองเฉกเช่นที่อื่นๆ
แต่ที่นี่แตกต่างตรงที่ความต่อเนื่อง ความเข้มข้นของความฝัน
และการมีส่วนร่วมของชุมชน
ย้อนหลังไป 10 กว่าที่แล้ว
ผู้นำชุมชนและชาวบ้านร่วมกันถวายฏีกาขอระบบน้ำเพื่อการเกษตรบนที่สูง
แต่ติดขัดระเบียบกฎหมาย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถดำเนินการให้ได้
แต่แผนจัดการน้ำบนที่สูงของชุมชนก็ไม่ได้หายไปไหน ถูกบรรจุไว้ใน“แผนพัฒนาบ้านแม่วาก”
เพื่อเตรียมส่งต่อให้กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการ
หลายปีผ่านไป กระทั่งเปลี่ยนผู้นำชุมชนคนใหม่ที่ได้ร่วมฝันกันมาต่อเนื่อง
ก็ยังไม่ลดละที่จะวางระบบน้ำเพื่อการเกษตรยั่งยืนให้กับชาวบ้าน ในที่สุดฝันนั่นก็บรรลุเป้าหมายโดยไม่ได้ใช้งบของภาครัฐ
แต่เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาสังคมและภาคเอกชนร่วมลงขันเข้ามาดำเนินการ
แม้ไม่เต็มร้อยอย่างที่คาดหวัง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ต่อยอดไปได้ง่ายขึ้นในระยะต่อไป
แต่สิ่งที่ท้าทายที่สุดของชุมชนช่างฝัน
กลับไม่ใช้งบประมาณ ไม่ใช้การเข้ามาหนุนเสริมขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ หากแต่คือการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนเป็นหลัก
ถ้าหากนับย้อนไปตั้งแต่ริเริ่มโครงการวางระบบน้ำเพื่อเกษตรยั่งยืนเมื่อปีพ.ศ.2559 เป็นต้นมา
ชุมชนรู้ว่าระยะทางวางท่อส่งน้ำไกลถึง 8 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้มาในแต่ละปี
ไม่มีทางถึงพื้นที่การเกษตรเพียงเวลาปีสองปีได้ แต่ฝันร่วมที่ต่อเนื่องของชุมชน กลับเสริมเติมเต็มให้กันและกัน
กลายเป็นพลังสำคัญที่ชุมชนอดทน ร่วมกันวางระบบน้ำต่อเนื่องกันมายาวนานร่วม 4 ปี
เสียงเห่ของชาวบ้านที่ได้เห็นน้ำไหลลงบ่อวันแรก
ยังคงประทับอยู่ในใจของทุกคนที่ร่วมเหตุการณ์ และถ้านี้คือรางวัลแด่คนช่างฝัน ก็คงทำให้หลายคนในหมู่บ้านรู้สึกอิ่มเอมใจกันไม่น้อย
ที่ร่วมเดินทางสร้างฝันกันมาอย่างเหน็บเหนื่อย ในวันนี้ขอเพียงอย่าปล่อยให้ความฝันที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนาชุมชนของหมู่บ้านต้องจบไปกับวาทะกรรมสวยหรู
ความต้องการของชุมชนต้องได้รับการตอบสนองตามความจำเป็นพื้นฐาน
หากแผนพัฒนาชุมชนถูกโยงเข้ากับแผนระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศได้ ก็คงทำให้ช่องว่างระหว่างคนชนบทกับคนเมือง
ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนลดลงไปบ้างไม่มากก็น้อย
2. ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง
ความเข้มแข็งของชุมชนบ้านแม่วาก ไม่ได้อยู่ที่การทำให้เป้าหมายขององค์กรหรือหน่วยงานหนึ่งใดสำเร็จตามเป้าหมายโครงการ
ในทางตรงกันข้าม ชุมชนบ้านแม่วากกลับทำให้องค์กรหรือหน่วยงานนั่นๆ ต้องตอบโจทย์ความต้องของชุมชน
ซึ่งนั่นก็หมายความว่า องค์กรหรือหน่วยงานนั่นก็ต้องปรับภาระกิจตนเองให้ตอบโจทย์พื้นที่มากสุดเท่าที่จะมากได้
ถ้าหน่วยงานไหนปรับได้ยาก ก็เท่ากับว่าบทบาทในการหนุนเสริมชุมชนก็ลดน้อยลงตามไปด้วย
ที่สุดแล้วก็อาจถูกเวี่ยงออกไปจากวงโคจรนั้นได้
3. ตลาดนำฟื้นป่าสร้างรายได้
ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและเขาหัวโล้นยั่งยืน ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ป่าชุมชน
พื้นที่เกษตรเขตเตรียมออก คทช. และพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์นั้น การตลาดเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป
ไม่ว่าจะเป็นพืชในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เกษตรกรปลูกแล้วต้องได้ขายในราคาที่เป็นธรรม
ดังนั้น พืชที่นำมาส่งเสริมโดยภาคีเครือข่าย นับตั้งแต่ มะเขือม่วง มะเขือเทศ ฯ กาแฟ
ไผ่ ไม้ผล และไม้มีค่า 58 ชนิด ก็จะมีปลายทางให้ผลผลิตส่งต่อไปได้
เว้นไว้ก็แต่พืชที่เกษตรกรต้องการแต่ไม่สอดคล้องกับตลาดของหน่วยงานที่เข้ามาส่งเสริมเท่านั้นที่จำต้องหาตลาดเอง
เมื่อใช้ตลาดนำฟื้นป่าสร้างรายได้
สิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้และพัฒนากันต่อไปก็คือ คุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์
ปริมาณที่ผลิตได้ และการจัดส่งร่วมถึงผลผลิตที่ออกมาต้องให้ทันต่อเวลาจึงจะแข่งขันได้
และเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ความรู้ด้านต่างๆ
จึงถูกถ่ายทอดให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต่อเนื่อง นับตั้งแต่ความรู้เรื่องพืช
การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว และบรรจุภัณฑ์ โดยพาเกษตรกรไปอบรมและศึกษาดูงานตามที่ต่างๆ
จนเกษตรกรหันมาลดการปลูกพืชเชิงเดียวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวทางแม่แจ่มโมเดลพลัส
คือใช้พื้นที่น้อย ให้ผลผลิตเท่าเดิมหรือมากกว่า
ขอยกตัวอย่างเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
อย่างเช่นนายชำนาญ ใจเตียม ปลูกพืชเชิงเดียว (ข้าวโพด) อาศัยน้ำฝน ต้นทุนค่าปุ๋ยค่ายาค่อนข้างสูง
ทำให้รายได้สุทธิอยู่ที่ 70,000 บาท/ปี เมื่อปีพ.ศ. 2559 เข้าร่วมกับโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ
ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชผัก ไม้ผล และไม้ป่า ด้วยผลผลิตที่ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย บางส่วนส่งจำหน่ายไปยังตลาดโครงการหลวง
ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 203,177 บาท/ปี โดยใช้พื้นที่เพียง 4 ไร่ จากทั้งหมด 19
ไร่
นายดวงแก้ว
ปินคำ ก็เช่นกันปลูกพืชเชิงเดี่ยวฯทำให้รายได้สุทธิเพียง 40,000
บาท/ปี พอหันมาปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชผัก ไม้ผล และไม้ป่า ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 275,252 บาท/ปี โดยใช้พื้นที่ 9 ไร่ จากทั้งหมด 13 ไร่ ทั้งนี้ยังไม่รวมพืชระยะกลางและระยะยาว ที่จะสร้างรายได้ในอีก 3
ปีข้างหน้าอีกด้วย
4. จัดการแบบมีส่วนร่วม
ที่บ้านแม่วาก
คำว่า “ส่วนร่วม” ไม่ใช้เป็นเพียงวาทะกรรมลวงของการพัฒนา แต่ทว่าคือรูปธรรมของความร่วมมือที่ได้ฝ่าฟันร่วมกันมานานถึง
4 ปี ทุกย่างก้าวที่เดินไปข้างหน้า ล้วนผ่านการพูดคุยกันกับชาวบ้านและภาคีเครือข่าย
ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การคิดและตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหาใดๆ นอกเหนือไปจากที่ประชุม
ก็รับรู้ถึงกันและกันตลอดเวลา แม้ว่าหลายองค์กรมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ ศักยภาพ ภาระหน้าที่
และขอบเขตการงาน แต่เป้าหมายกลับไปในทิศทางเดียวกันคือ เพิ่มพื้นที่สีเขียว
ฟื้นป่าสร้างรายได้ แก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ลดการใช้สารเคมีการเกษตร
ป้องกันการพังละลายของหน้าดินและดินเสื่อมสภาพ
ดังนั้น การดึงเอาศักยภาพที่แตกต่างหลากหลายของแต่ละองค์กรมาหลอมรวมกัน
จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้งานเดินไปได้อย่างต่อเนื่อง แม้หลายต่อหลายเรื่องจะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ
แต่ด้วยศักยภาพที่แตกต่างกันกลับทำให้งานก้าวหน้าไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องตลาดและการแปรรูปผลิตผลการเกษตรนั้น
องค์กรเดียวไม่อาจทำได้จบครบกระบวนการ จำต้องอาศัยศักยภาพของแต่ละองค์กรเข้ามาหนุนเสริมเติมเต็มให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน
แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเทงบประมาณและงานมากองร่วมกันก็ไม่ใช่ เพียงปรับภารกิจให้สอดคล้องกับกิจกรรมในพื้นที่ก็มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาได้แล้ว
ทั้งนี้ ไม่จำเป็นเฉพาะองค์กรเล็กๆในพื้นที่เท่านั้น
หน่วยงานภาครัฐระดับกระทรวง กรม ลงมาถึงส่วนภูมิภาค ก็สามารถบูรณาการกันได้หากจับเอาปัญหาในพื้นที่เป็นตัวตั้ง
และทะลายกำแพงที่เป็นอุปสรรคออกไป โดยเฉพาะระเบียบกฎหมายต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน
5. สิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ถ้านับย้อนหลังไป 10 กว่าที่แล้วมา คราวที่ผู้นำชุมชนและชาวบ้านร่วมกันถวายฏีกาขอระบบน้ำเพื่อการเกษตรบนที่สูง
แต่ติดขัดระเบียบกฎหมาย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถดำเนินการได้
ทำให้ชุมชนต้องเสียโอกาสการพัฒนาไปทันที โดยเฉพาะในพื้นที่ 66.80 % ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การเข้าไปพัฒนาพื้นที่จึงต้องขออนุญาตกับกรมป่าไม้
ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ชุมชนและถนนหนทาง ซึ่งใช้กันมาหลายช่วงอายุคน ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ
ได้หากไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือหนังสืออนุญาตการใช้ประโยชน์
บ้านแม่วาก
เป็นเพียงจุดเล็กๆ ในภาพใหญ่ของอำเภอแม่แจ่ม และอำเภอแม่แจ่มก็เป็นเพียงภาพเล็กของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ
ที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน จะออกเอกสารสิทธิ์ก็ติดพรบ.ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ
แม้ปัจจุบันมีการปลดล็อคไปบ้าง แต่กระบวนการอนุมัติอนุญาตต้องใช้เวลาอีกหลายปีหรือหลายสิบปีด้วยซ้ำ
ในระหว่างนั่นก็เท่ากับว่าชุมชนเสียโอกาสพัฒนา ส่วนงบที่ลงมาชุมชนก็ต้องตกไปและส่งคืนคลัง
ในตรงกันข้าม ถ้าเร่งออกเอกสารสิทธิ์และอนุมัติอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินเร็วขึ้นเท่าไหร่
ชุมชนก็จะได้โอกาสมากขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกันกับกรณีการอนุมัติทำถนนคอนกรีตเข้าบ้านแม่วาก
ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่สปก.4-01 จึงต่อยอดงานพัฒนาได้ง่ายโดยไม่ยุ่งยาก
6. บูรณาการแผนเพื่อชุมชน
อันที่จริงหน่วยงานภาครัฐ มีทรัพยากรมากพอที่จะสนับสนุนชุมชนที่มีความพร้อมจัดการตนเองและต่อยอดไปได้แทบทุกด้าน
ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านอาชีพรายได้
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านประเพณีศิลปวัฒนธรรม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
หรือแม้กระทั่งการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพียงแต่รัฐต้องเอาปัญหาเชิงพื้นที่เป็นตัวตั้ง
แล้วบูรณาการแผนงานให้ตอบโจทย์พื้นที่ร่วมกัน ตามภารกิจของแต่ละกระทรวง กรมกอง และหน่วยงานในสังกัด
เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จัดระเบียบพื้นที่และอนุมัติอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ฯลฯ กระทรวงเกษตรฯมีหน้าที่ส่งเสริมดูแลเรื่องต้นน้ำ
กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลกลางน้ำ เรื่องการแปรรูป กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องตลาดให้กับชุมชน
กระทรวงพัฒนาสังคมฯสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มองค์กรต่างๆ อย่างนี้เป็นต้น
เมื่อต่างหนุนเสริมกันโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง การแก้ไขปัญหาต่างๆก็จะง่ายขึ้น ตรงจุด
และไปสุดซอยได้ ในตรงกันข้าม หากทำงานแยกกันเป็นส่วนๆ หน่วยงานที่ส่งเสริมก็ส่งเสริมไปโดยสนใจเรื่องการแปรรูปและตลาด
โอกาสที่จะไปสุดซอยก็ยาก ที่สุดชุมชนก็จะเอือมและเบื่อหน่ายกับการพัฒนาที่ย่ำเท้าอยู่กับที่
7. ส่งไม้ต่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย
กรณีบ้านแม่วากและหมู่บ้านอื่นๆที่ชุมชนเข้มแข็ง ลุกขึ้นมาจัดการตนเองจนประสบความสำเร็จในบางเรื่องบางด้านได้นั้น
รัฐต้องเข้ามารับไม้ต่อว่าจะสนับสนุนและต่อยอดได้อย่างไร เพราะหลายต่อหลายกลุ่มและชุมชนขยับต่อในบางเรื่องบางประเด็นไม่ได้
ติดขัดระเบียบกฎหมายและงบประมาณที่จะเข้ามาเติมเต็มและขยายผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถนนหนทาง
การท่องเที่ยว ฟื้นป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว พัฒนาอาชีพรายได้ ฯลฯ เหล่านี้แค่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินก็คิดเดินต่อได้ยาก
ในทางตรงกันข้าม
หากรัฐเข้ามารับไม้ต่อจากที่ชุมชนได้ริเริ่มไว้ดีแล้ว ข้อจำกัดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการยกระดับผลิตผลและสินค้าของกลุ่มและชุมชนก็จะต่อยอดไปไกล
สามารถแข่งขันกับตลาดที่กว้างออกไปสู่สากลได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น