สมเกียรติ มีธรรม ฯ ป่าไม้ ที่ดินทำกินและเศรษฐกิจชุมชน ความยั่งยืนของการจัดการไฟป่า

 สมเกียรติ มีธรรม แกนนำ “แม่แจ่มโมเดล”

"ป่าไม้ ที่ดินทำกินและเศรษฐกิจชุมชน

ความยั่งยืนของการจัดการไฟป่า"

หมายเหตุ ; คลิปและบทความชีวิตและงานนี้ เผยแพร่ในเพจ GreatReform เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562

https://www.facebook.com/GreatReform/posts/2072002406425468

วันที่ 3 เมษายน 2562 การเดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ ขณะที่อยู่บนท้องฟ้า เมื่อเครื่องบินเริ่มลดระดับลง ภาพที่มองเห็นภายนอกหน้าต่างกลับไม่ใช่ทิวเขาสลับซับซ้อนเขียวขจีตัดกับท้องฟ้าสีครามอย่างที่คุ้นเคย ไม่ใช่แม้แต่สีขาวของกลุ่มก้อนเมฆ แต่กลับเป็นฝุ่นควันหนาทึบจนมองอะไรแทบไม่เห็น

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่กรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียงตกอยู่ในสถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 ในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและระบบหายใจ มีความกังวลใจล่องลอยมาว่า หลังฤดูเก็บเกี่ยวอีกไม่กี่เดือนจากนี้ก็จะเข้าสู่ฤดูกาลเผาป่าเผาไร่ ควันไฟทางภาคเหนือในปีนี้คงหนักหนายิ่งกว่าฝุ่นควันที่กรุงเทพมากนัก ... แล้วความจริงก็เป็นเช่นนั้น

จากคำบอกเล่าจากชาวบ้านที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน เป็นธรรมดาที่ความแห้งแล้งรุนแรงจะวนเวียนมาทุกๆ 3-4 ปี ตามธรรมชาติก็เป็นธรรมดาที่ภัยแล้งจะนำมาซึ่งไฟป่า เป็นวงจร เป็นวิถีที่ธรรมชาติมีวิธีการในการจัดการตัวเองเพื่อความสมดุล เพื่อชีวิตของสรรพสิ่ง แต่หากภัยแล้งเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ไฟที่เผาป่าเกิดจากน้ำมือมนุษย์ การฝ่าฝืนกฎห้ามเผาในช่วง 60 วันห้ามเผาก็รุนแรงยิ่งขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ เพื่อปากท้อง เพื่อการบริโภค โดยไม่คิดถึงธรรมชาติ สรรพชีวิต และลมหายใจของคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเลย

ภัยจากการเผาป่าเผาไร่เกิดขึ้นทุกปี มากบ้าง วิกฤติบ้างสลับกันไป แต่ดูเหมือนเราจะเข้าใจและยอมรับเพราะเดี๋ยวมันก็ผ่านไป การจัดการปัญหาเมื่อมีการเผา เมื่อมีการไหม้ ก็แค่ออกไปดับ ฟ้าส่งฝนมาโปรดเมื่อไหร่ สถานการณ์ก็ดีขึ้นเอง และเมื่อนั้นแผ่นดินก็จะกลับไปเขียวขจีดั่งเช่นเคย

ภาพสวยงามของฤดูกาลเพาะปลูกทำให้เราหลายคนเกือบลืมไปว่าการเผาไหม้จะกลับมาอีก ยามศึกเราก็ออกไปรบไปดับไฟ ซึ่งต้องขอคาระวะแก่เหล่าผู้กล้าที่ไปผจญกับด่านหน้าแนวไฟป่าทั้งหลายที่ช่วยกันด้วยชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่โดยตรง ชาวบ้านและอาสาสมัครที่ระดมกำลังกัน เขาเหล่านี้แม้ในยามสงบก็ยังต้องเฝ้าระวัง ทำงานอย่างบูรณาการเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียจากไฟป่า หรือจากการเผาไร่อีก

เมื่อฤดูกาลย่อมหมุนเวียนมาทุกปี มีฤดูกาลเพาะปลูกก็มีฤดูกาลเก็บเกี่ยว มีการเร่งเก็บเกี่ยวเพื่อเร่งการเพาะปลูกใหม่อีกครั้ง ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเผาคือวิธีการที่ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด ถูกที่สุด และเร็วที่สุด และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเผาไร่เพื่อการเพาะปลูกครั้งใหม่เกี่ยวพันโดยตรงต่อชีวิตและปากท้องของพี่น้องเกษตรกร ชีวิตของเหล่าผู้บริโภคที่ยังต้องกิน และเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อกลุ่มธุรกิจที่มีอิทธิพลต่อภาคเกษตร ทุกส่วนต่างโยงใยถึงกัน มีคนกิน มีคนขาย มีคนปลูก ก็ย่อมมีคนเผา

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคำถามว่าไม่เผาได้ไหม คือ จะเผาอย่างไร ควบคุมการเผาอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด กระบวนการเชื่อมโยงมนุษย์กับแผ่นดินเกิด ผืนดินที่ทำมาหากิน ธรรมชาติ ป่าเขา สายน้ำ ชุมชน สิ่งแวดล้อมจึงถูกนำมาขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยสันติวิธี ด้วยหลักธรรม ด้วยความเข้าใจในกระบวนการและการจัดการพื้นที่ การควบคุมการเผาไร่เผาป่าจึงลึกซึ้งยิ่งไปกว่ากฎระเบียบและการลงโทษ แต่เป็นการหยั่งรากลงไปในใจของผู้คน

การทำไร่ทำนา ทำการเกษตรจึงไม่ใช่การหาเงินให้ได้มากที่สุด แต่คือการใช้ชีวิตอย่างไรทำลายโลกให้น้อยที่สุด สมดุลที่สุด และหากนั่นจะหมายถึง “วิถีของความพอเพียง” ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการบอกให้ทำ และหากนั่นจะหมายถึงหลักธรรมที่เป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิตของผู้คนที่จะไม่เบียดเบียนต่อกัน และหากนั่นจะหมายถึงชีวิตของคนที่จะนำหลักธรรม หลักแห่งความพอเพียง มาสร้างความสมดุลให้กบชีวิต ให้กับสังคมที่แตกต่างหลากหลายในโลกแห่งทุนนิยม ให้เข้าใจในความแตกต่างและหาทางออกที่จะอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข โดยเฉพาะในปัญหาปากท้อง สิทธิในที่ดินทำกิน การเอารัดเอาเปรียบ ความอยากมีอยากได้ การเผาไร่และเผาป่า

 

หนานเกียรติ หรือ สมเกียรติ มีธรรม ผู้ก่อตั้งสถาบันอ้อผะหญา(องค์กรสาธารณประโยชน์) และมูลนิธิฮักเมืองแจ่ม แกนนำแม่แจ่มโมเดล คืออีกหนึ่งในบุคคลที่น่ายกย่อง เพราะกว่าจะมีวันนี้ กว่าจะมีการร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมของชาวแม่แจ่ม หนทางที่ผ่านมาย่อมเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ชายที่ชื่อสมเกียรติ มีธรรม ผ่านอะไรมา เขาเรียนรู้อะไร เขามีหลักยึดอย่างไร

           “จริงๆ ผมมาอยู่แม่แจ่มเมื่อปี 2545 บ้านเกิดของผมอยู่ที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ผมทำงานพัฒนาชุมชนมาตลอด แต่ก็ไม่ใช่เพราะความตั้งใจแต่แรก เรื่องมีอยู่ว่าพอเรียนจบผมก็ตั้งใจไปหางานทำที่กรุงเทพ แล้วก็ไปพักที่สำนักงานของเพื่อนที่มาจากบ้านเดียวกัน ซึ่งเขาทำงานที่มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป

พอดีเพื่อนลาออกจากมูลนิธิฯ แล้วเขาก็ต้องการคนใหม่ ผมไปอยู่ 2-3 เดือนจนรู้จักคนที่นั่น เขาก็เลยให้ผมทำงานเลย จะรองานทำไม ก็ได้ไปทำในส่วน “ศาสนากับการพัฒนาสังคม” ก็เป็นการจัดประชุมสัมมนาในกลุ่มพระสงฆ์ หนุนเสริมให้ท่านทำงานกับชุมชน แล้วก็ทำสื่อเผยแพร่งานด้านศาสนากับการพัฒนาสังคม ทำงานอยู่ที่เดียวมาต่อเนื่อง 13 ปี จนกลับมาอยู่บ้าน

           ปัจจุบัน พระสงฆ์หลายๆ ท่านก็ยังขับเคลื่อนงานสังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อมจนถึงทุกวันนี้ คือพระสงฆ์ท่านจะนำชาวบ้านทำงานเพื่อชุมชนง่ายกว่าที่คนไม่บวชทำ เพราะมีความเคารพนับถือจากชาวบ้าน ไม่ว่าจะเรื่องป่าชุมชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ ทำเรื่องธนาคารข้าว ธนาคารโคกระบือ หรือกลุ่มออมทรัพย์ คือพอท่านพาทำ ก็รวมคนได้ง่ายด้วยความศรัทธา”

          

ตลอดเวลา 13 ปีที่ทำงานกับมูลนิธิฯ ทำงานกับพระสงฆ์ ขับเคลื่อนศาสนากับการพัฒนาสังคม อะไรคือแก่นที่ได้ค้นพบที่เป็นฐานที่จะไปต่อในการทำงานเพื่อพัฒนาสังคม

           “ผมว่าเป็นเรื่องของการเรียนรู้ ที่ทำให้เราเรียนรู้และเคารพความแตกต่างของแต่ละคน แต่ละศาสนา แต่ละความเชื่อ และยอมรับ ผมว่าได้ตรงนี้มากๆ เพราะผมทำงานกับหลากหลายศาสนา หลายสำนัก แต่ละคนก็จะมีแนวของตัวเอง ซึ่งก็มีดีหมดถ้าเราเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย

ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องมีหลักยึดและเราก็จะเข้าใจทุกคน และพร้อมที่จะเดินหน้าร่วมทางกันต่อได้ ให้เข้าถึงความจริงความดีและความงาม อันเป็นหลักให้เราเดินหน้าไป ไม่เอียงซ้ายเอียงขวา

           ความดี ก็คือการทำงาน การขับเคลื่อนงานให้เกิดผลดี ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ที่เหมาะที่ควร พูดง่ายๆ เป็นเรื่องของการกระทำ การลงมือทำให้เกิดผลดี แต่ถ้าคิดดีไม่เกิดผลดีก็เป็นเรื่องของการเรียนรู้ ผิดพลาดก็เป็นเรื่องผิดพลาดให้เราได้เรียนรู้

           ความงามก็คือ ความสุขจากการทำงาน ยิ่งเราทำไปเราก็มีความสุข ยิ่งมีความสำฤทธิ์ผลที่เกิดขึ้นเราก็อิ่มใจ อิ่มสุขจากสิ่งที่เราลงมือทำ เป็นการเสพสุขจากการทำดี แต่เราต้องไม่ยึดติดในสิ่งที่เราทำ อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ต้องเตือนตัวเองด้วย ต้องคอยสำรวจตัวเอง เรียนรู้ให้ได้และลดลงไป เป็นแก่นแท้เป็นแก่นของชีวิตที่ทำให้เราเดินต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้เอารัดเอาเปรียบใคร โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนใคร”

          

           ที่คนเรียกหนานก็เพราะหนานเกียรติผ่านการบวชมาก่อนตามธรรมเนียมทางภาคเหนือ แต่ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ทำงานขับเคลื่อนศาสนากับการพัฒนาสังคม ตลอดเวลาที่ทำงานร่วมกับพระสงฆ์และชุมชนในฐานะเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเสถียรโกศศ นาคะประทีป การได้อ่านหนังสือ อ่านตำราและศึกษาพระธรรมมาอย่างดี ทำให้เรารับรู้ได้ว่าหนานเกียรติคือหนึ่งในผู้ที่เข้าใจธรรมมะอย่างดีและมากพอจนหล่อหลอมนำหลักธรรมมาเป็นแก่นในการดำเนินชีวิต และชีวิตนี้ก็เพื่อสังคมที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นธรรม

           “ในแวดวงที่ผมอยู่เป็นแวดวงของนักคิดนักเขียน ศิลปินชั้นนำของเมืองไทย ผมได้เปรียบจากลูกฟลุ๊ค ถ้าย้อนไปในวันนั้นบอกได้ว่าเป็นการเข้ามาทำงานโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่พอผ่านไป 13 ปี คนเราก็ต้องมีทางเดินของตัวเองที่ต้องค้นหา ผมจำได้เลยว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2545 เป็นวันที่ผมจ้างรถขนหนังสือของผมทั้งหมดมาไว้ที่แม่แจ่ม ตอนแรกผมก็ออกมาเขียนหนังสือ เขียนบทความให้มติชนรายวัน และอยากมีสวนเล็กๆ เพื่อจะได้นั่งเขียนหนังสือ

           แต่หลายอย่างก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เราก็ต้องดิ้นรน ผมออกไปเขียนหนังสือ เลี้ยงชีพด้วยการเขียนหนังสือและเพาะเห็ด แต่เจ๊ง ก็เลยเอาวิชาเดิมกลับคืนมา กลับไปจัดอบรมให้กับเณรร่วมกับมูลนิธิเด็กในพื้นที่จังหวัดน่าน แล้วก็เริ่มเขียนโครงการทำกิจกรรมกับเยาวชนที่แม่แจ่ม พอทำมาได้ 3 ปี ก็เลยตั้งสถาบันอ้อผะหญา เพื่อทำงานด้านการอบรมเยาวชน”

 

           การเรียนรู้จากการได้ทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน จะเป็นฐานสำคัญในชีวิตของคนที่จะก้าวต่อไป รักษาฐานนั้นไว้ แล้วนำมาขยายผล ต่อยอดใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม จากงานเยาวชนมาเป็นขับเคลื่อนการคัดค้านการสร้างเขื่อน

           “พูดตรงๆ ว่าส่วนหนึ่งก็เพื่อการอยู่รอดของเรา แต่หลักก็คือทำงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เราจัดค่ายโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กและเยาวชน แต่พอช่วงปี 2554 ในวันที่ 2-3 ตุลาคมมีน้ำท่วมที่แม่แจ่ม แล้วก็ไหลไปถึงภาคกลาง ท่วมกรุงเทพ (น้ำท่วมใหญ่ปี 2554) ที่มวลน้ำส่วนใหญ่ก็ไหลมาจากภาคเหนือตอนบน ปิง วัง ยม น่าน ก็พูดได้ว่าน้ำท่วมใหญ่ส่วนหนึ่งก็มาจากแม่แจ่ม

           หลังจากน้ำท่วมใหญ่ พอปี 2555 ก็มีโครงการสร้างเขื่อน 18 เขื่อนในโครงการ 3.5 แสนล้าน ทั้งเขื่อนแม่วงศ์ แม่แจ่ม แก่งเสือเต้นฯลฯ ผมก็เลยพาชาวบ้านไปศึกษาข้อมูล พาชาวบ้านคัดค้านเขื่อนแม่แจ่ม เป็นงานเคลื่อนไหวที่ไม่เคยทำมาก่อน จากที่เราทำงานเย็นทำงานกับพระกับเณรกับเด็ก แล้วเปลี่ยนมาจับงานร้อน มีการยื่นฟ้องจนสุดท้ายโครงการ 3.5 แสนล้านก็ต้องตกไปในยุคนั้น เขื่อนทั้งหลายก็ต้องยุติไปพร้อมๆ กัน”

          

หนานเกียรติทำงานเย็นมาตลอด หนานเกียรติก็เป็นคนเย็นมาตลอด แต่พอมาทำงานร้อน หนานใช้ความเย็นมาทำงานร้อนหรือไม่

“หลักของผม การทำงานของผม ผมจะไม่เอาชาวบ้านไปประท้วงถ้าไม่จำเป็น เราจะสู้กันด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง ดังนั้นเราต้องทำข้อมูลให้แน่น เอาข้อมูลไปสู้กันว่าถ้าทำอย่างนี้อะไรจะเกิดขึ้น ในพื้นที่มีอะไรบ้าง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เราขับเคลื่อนโดยฐานข้อมูลมาตลอด

เราเองก็ต้องเข้าใจความแตกต่างและต้องมีหลักยึด เพราะว่าพอเราทำงานในพื้นที่โดยเฉพาะเรื่องเขื่อน เข้าใจเลยว่าพี่น้องเป็นชนเผ่าหมดเลย วัยกลางคนขึ้นไปก็พูดไทยไม่ได้ อู้คำเมืองยังไม่ได้ไม่เข้าใจ การกินการอยู่ก็ด้วย ถ้าเราไม่คุ้นเคยก็เหมือนไปดูถูกเขา สภาพความเป็นอยู่ ถ้าเราไม่เข้าใจวิถีของพวกเขาเราก็จะไม่มีทางเข้าใจ

นั่นคือต้นทุนที่เรามีทำให้เราทำงานกับเขาได้ ไปนอนไปกินกับเขาได้ ก็เกิดการยอมรับและร่วมมือกัน เราต้องทลายกำแพงในใจเราเรื่องนี้ให้ได้”

 

เมื่อสถานการณ์เขื่อนผ่านไปยุติลงด้วยดี ไม่ได้หมายความว่าการขับเคลื่อนเพื่อชุมชนและสังคมจะหยุดตาม คนที่มีฐานที่มั่นคงจะมีหนทางให้ไปต่อและจะไม่หยุดทำ การเผาไร่ การเผาป่า ปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินของชาวบ้านยังน่าเป็นห่วง

“ในเรื่องการเผาเราต้องแยกแยะ สมัยก่อนเป็นการทำไร่หมุนเวียน ทำไร่ข้าวของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านจะมีที่นาน้อยมากในแทบทุกพื้นที่ของภาคเหนือตอนบน เพราะการบุกเบิกนาจะต้องใช้จอบ เพราะฉะนั้นที่นาจะมีน้อย ต้องทำข้าวไร่ ทางพี่น้องชนเผ่าก็ต้องทำไร่หมุนเวียน คนเมืองก็จะมีไร่หมุนเวียนเหมือนกัน มาสมัยหลังคนพื้นราบก็เปลี่ยนมาทำนามากขึ้น ไม่ต้องไปทำไร่ข้าว มีแต่การทำนา แต่พี่น้องบนดอยก็ยังคงวิถีไร่หมุนเวียนอยู่พอควร

ทั้งสองแบบ ไม่ว่าจะข้าวไร่หรือที่นาก็ใช้ไฟเช่นกัน แต่ว่าปริมาณพื้นที่ไม่ได้กว้างมาก เพราะที่นาที่ไร่มีน้อยกว่าสมัยนี้ ประกอบกับตอนนั้นสภาพอากาศก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างทุกวันนี้

แต่พอมาในยุคของข้าวโพด ซึ่งเริ่มเข้ามาในแม่แจ่มราวๆปี พ.ศ.2534 จากพื้นที่การปลูก 5-6 พันไร่ ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมามากสุดในปี 2549-2550 มีมากถึง 1.4 แสนไร่ หลังจากนั้นก็ทรงตัว และลดลงเหลือประมาณ 1 แสนไร่

พอพื้นที่มันมาก และด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นเขาสูงชันก็ไม่สามารถเตรียมพื้นที่ด้วยการไถกลบได้ แม้แต่พื้นที่ราบก็ตาม การไถกลบใช้แรงงานสูง ต้นทุนสูง การเตรียมพื้นที่ปลูกพืชที่ต้นทุนต่ำที่สุดคือการเผา เผาได้ทั้งที่ราบและที่สูงชัน

ก็จะมีการเผาสองแบบ คือ การทำไร่หมุนเวียน กับการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวโพด ไร่ข้าวโพดก็มีพื้นที่มากอยู่แล้ว น่าจะ 2 หรือ 3 เท่าของไร่หมุนเวียน ประกอบกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ส่งผลกระทบต่อปัญหาควันไฟมากขึ้น

แต่ปัญหาไฟป่า เราพบว่าตั้งแต่ปี 2555 จะเป็นไฟและควันที่เกิดขึ้นในป่ามากกว่าไร่ข้าวโพด จะมีก็แต่ชิงเผาก่อน 60 วันห้ามเผา ในช่วงห้ามเผานี่ไม่มีเลยจุดความร้อน Hot Spot ในวันนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าทั้งหมด บางคนบอกว่าในป่ามีที่ทำกินของชาวบ้าน ก็จริง แต่ไฟเกิดในป่าจริงๆ ไม่ใช่จากไร่ในเขตป่าสงวนหรืออุทยาน เพราะในแม่แจ่มเราทำข้อมูล GIS ขอบเขตพื้นที่ทำกินกับป่าไว้เกือบหมด และทำข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงอีก ดังนั้นเราสามารถเอาไปขึ้นใน google และเช็คได้เลยว่าเป็นพื้นที่ของใคร เรารู้หมด เรามีระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศเชิงภูมิศาสตร์ที่ทีมทำงานของเราทำไว้ เพื่อต้องการหยุดการขยายพื้นที่ทำกิน เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตและเพื่อผลักดันสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้กับชาวบ้าน เป็นข้อต่อรองกับภาครัฐ

ตอนนี้เราทำฐานข้อมูลนี้ไว้เกือบทั้งอำเภอ ฉะนั้น hot spot ขึ้นที่ไหน ถ้าเป็นที่ทำกิน เราสามารถเช็คได้ ในปี 2554 เราจับ GPS แยกพื้นที่ทำกินแยกออกจากป่า มันก็จะมีขอบป่ากับพื้นที่ทำกินได้ชัดเจน และในพื้นที่ขอบป่าเราก็จะมีข้อมูลรายแปลงของ นาย ก. นาย ข. อยู่ที่ไหนเรารู้หมด

จึงพูดได้ว่าในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านจะไม่เกิดไฟในช่วงห้ามเผา และก่อนหน้านั้นชาวบ้านก็ไม่เผาอยู่แล้วเพราะหญ้ามันยังเขียวอยู่”

 

ถ้าจะสื่ออกไป คือบอกว่า ใครเผา แม่แจ่มไม่เผา ... เราพูดได้ไหม ?

“ได้ครับ ทุกวันนี้ผมก็พูดอย่างนี้ หนึ่ง แม่แจ่มไม่เผาในพื้นที่ทำกินในช่วง 60 วันห้ามเผา สอง ซังข้าวโพดที่โม่ออกมา แม่แจ่มไม่เผา 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราเอาไปเป็นปุ๋ยส่งโรงงานหมด เราพูดได้อย่างชัดเจน

ที่สำคัญคือ แล้วไฟกับควันไฟมาจากไหน ก็บอกได้ว่ามาจากป่า แล้วเยอะไหมที่ไฟไหม้ป่าที่แม่แจ่ม ก็บอกได้เลยว่าไม่เยอะ hot spot ลดลงอย่างต่อเนื่อง พื้นที่เผาไหม้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเรามีการบริหารจัดการในเรื่องนี้ ตั้งแต่การลดเชื้อเพลิงในป่า เรื่องการสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน เรื่องของการลดปริมาณเชื้อเพลิงด้วยการชิงเผา ส่วนในพื้นที่ทำกินก็ชัดเจนอยู่แล้ว คือในช่วงห้ามเผาก็ไม่มีการเผา และในช่วงที่ให้เผาก็ต้องมีการบริหารจัดการ จัดโซนนิ่งการเผา มีการทำแนวกันไฟ ก่อนเผาต้องถางให้หญ้าให้ติดพื้นก่อน เวลาเผาจะได้ไหม้เร็ว ใช้เวลาไม่นาน ไม่สร้างมลพิษให้เยอะ คือมีการบริหารจัดการทั้งสองส่วน ทั้งในพื้นที่การเกษตรในเขตป่าสงวนและในพื้นที่ป่า จึงทำให้จุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ลดลงทั้งหมด ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย แต่มันลดลง บางวันไม่มีเลย

แต่ต้องยอมรับว่ามีการเผา ไม่ใช่ไม่มีเลย แต่พอไฟเกิดขึ้นก็ช่วยกันไปดับได้ทัน มันเลยไม่มีจุดความร้อน เรื่องนี้ต้องพูดความจริง เป็นเรื่องการบริหารจัดการในชุมชน ในพื้นที่ที่เกิดไฟป่า”

 

แม่แจ่มโมเดลมีกระบวนการในการสร้างข้อตกลงร่วมกันกับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านยอมรับและยอมปฏิบัติตามได้อย่างไรครับ

“เรามีการบริหารจัดการแบบจริงจังเป็นระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 มาตรการในการแก้ไขแบ่งเป็น 3 เรื่อง 1. มาตรการป้องกัน 2. มาตรการรับมือ และ 3 มาตรการยั่งยืน

มาตรการป้องกันเราทำตั้งแต่ หนึ่ง ใช้ข้อมูลมาบริหารจัดการในพื้นที่เสี่ยง สองสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน รณรงค์บ้าง เปิดเสียงตามสายในหมู่บ้านและแจกแผ่นพับ สาม เราทำหมู่บ้านปลอดเผาเป็นตัวอย่าง เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ทำกินและป่าเต็งรัง แต่ทำในบางพื้นที่ อย่างเช่น ดอยลูกหนึ่งชาวบ้านชอบไปเก็บเห็ด ก็เข้าไปดูว่าพื้นที่กว้างขนาดไหน ทำแนวกันไฟไว้ พาชาวบ้านยกโขยงกันไปทำกันอย่างจริงจัง

ในมาตรการรับมือ ก็จะมีการจัดแบ่งพื้นที่ในการรับผิดชอบ ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง คือแบ่งพื้นที่กันไปเลย พื้นที่ป่าสงวนให้หน่วยป้องกัน ให้อุทยานฯ กับชุมชนที่อยู่ตรงนั้นดูแล ส่วนพื้นที่ทำกินกับที่อยู่อาศัยให้กำนัน อบต. กับผู้นำชุมชนในแต่ละพื้นที่ช่วยกันดูแล จัดโซนนิ่งกัน

อันที่สองคือสร้างกลไก เรามีกลไกชุดปฏิบัติการดับไฟป่าหมู่บ้าน หมู่บ้านละประมาณ 50 คน มีกลไกระดับตำบลและอำเภอ ออกตรวจตราในพื้นที่ของตนเอง ส่วนชุดปฏิบัติการหมู่บ้านก็ต้องจัดเวรกันไปตรวจตราในพื้นที่ของตัวเอง

สาม มีการด่านตรวจเช็คเป็นจุดๆ คอยดูไฟป่า ดูคนเข้าคนออก

สี่ เรามีกองทุน เราทำกองทุนให้กับชุดปฏิบัติการดับไฟป่าในแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 3 พัน เพราะเวลาเขาไปลาดตระเวนก็ต้องมีน้ำมีอาหาร ต้องมีกองทุนไปเติมให้พวกเขา แม่แจ่มอาจเป็นที่แรกในประเทศไทยที่ทำเรื่องกองทุนนี้ขึ้นมา

เราดำเนินการแบบนี้ ทุกส่วนช่วยกันอย่างแข็งขัน เข้มงวด และมันได้ใจคน นายอำเภอก็ลุยด้วย ทุกคนลุยกันหมด เสร็จงานหมอกควันไฟป่าเราก็เลี้ยงใหญ่ทั้งอำเภอ ทั้งท้องที่ท้องถิ่น พ่อหลวง กำนัน หน่วยไฟป่า หน่วยป้องกัน เพราะการทำงานมันได้ใจคน ทุกคนรู้สึกถึงความสำเร็จร่วมกัน เลยเป็นพลังตั้งแต่ตรงนั้นเป็นต้นมา

เพราะได้ใจคน เพราะรู้สึกถึงความสำเร็จร่วมกันมันจึงเป็นฐานไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นมาตรการที่สาม จากแม่แจ่มโมเดลแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า มาเป็น “แม่แจ่มโมเดล” แก้ไขปัญหาป่าไม้ ที่ดินและเศรษฐกิจชุมชน จนถึงวันนี้เป็นเรื่องของมาตรการยั่งยืนของปัญหาหมอกควันไฟป่า เพราะโจทย์การแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าอยู่ที่การจัดการทรัพยากร ไฟป่าเป็นเพียงปรากฏการณ์สั้นๆ เฉพาะหน้า การดับไฟก็ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ก็ต้องมาเล่นกันในเรื่องมาตรการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ถ้าป่าคงอยู่เศรษฐกิจของชุมชนก็จะคงอยู่ เขาก็จะดูแลป่าดูแลพื้นที่ของเขา

ที่สำคัญๆ ในเรื่องมาตรการยั่งยืน แม่แจ่มโมเดล เราทำในเรื่องสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน เราขับเคลื่อนโดยใช้ฐานข้อมูลรายแปลงเป็นตัวเดินเรื่องในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและกฎหมาย เราถือว่าเราประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ถึงแม้ไม่ได้เต็มร้อยอย่างที่เราคาดหวังแต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็คือ ให้คนอยู่กับป่าได้ ปลูกได้ ตัดได้ในพื้นที่ที่มีกรรมสิทธิและในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต โดยเริ่มจากที่นี่ แล้วเป็นพลังให้พื้นที่อื่นทั่วประเทศได้รับอานิสงส์ด้วย”

ในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่เราทำข้อมูลรายแปลงไว้ ตอนนี้มีจำนวน 14,000 แปลง เป็นพื้นที่ประมาณ 110,000 ไร่ ใน 46 หมู่บ้านจากทั้งหมด 104 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่อยู่ห่างไกลเป็นภูเขาสูงชัน บางหมู่บ้านต้องใช้เวลาเดินทางเป็นวัน


 แต่ในวันนี้พวกเขาเปลี่ยนและลงมือทำเพื่อผู้อื่น เพื่อรักษาไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทย มันไม่ได้เกี่ยวเลยว่าจะเป็นใครถึงจะเปลี่ยนได้ลงมือทำเพื่อผู้อื่นได้ แต่ทุกคนเปลี่ยนได้ สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ทำเพื่อบ้านของเราได้

“ผมอยู่ที่ไหน ที่นั่นคือบ้านของผม และผมทนไม่ได้กับที่ชาวบ้านถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกรังแก โดยเฉพาะกับพี่น้องชาวบ้านที่ไม่รู้ข่าวสารอะไรต่างๆ เลย อย่างเขาจะสร้างเขื่อน จะมาไล่ทั้งหมู่บ้านออกจากบ้าน เขายังไม่รู้อะไรเลย เราเห็นแล้วเราอดไม่ได้ ทนไม่ได้กับความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ก็เลยเริ่มศึกษา เริ่มเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ก็เห็นใจและมาลุยเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้าน”

ในปีนี้ ปี 2562 เวลาล่วงเลยมาถึงต้นเดือนพฤษภาคม ฝนเพิ่งจะเริ่มตก ไฟป่าก็ยังคงไหม้อยู่บ้างบางพื้นที่ บทความนี้ไม่ได้ชี้ชวนให้คิดหาตัวการในการเผาป่าหรือชี้ตัวจำเลยของสังคมที่ส่งเสริมให้ปลูกให้เผาคือใคร

เราเพียงชวนคิดและทำความเข้าใจกันถึงวงจรและรากฐานของปัญหา เพราะการเปลี่ยนสังคมไทยของเราให้เป็นสังคมที่ดีกว่าเดิม เป็นสังคมที่น่าอยู่ มีอากาศที่บริสุทธิ์ มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และสายน้ำ มีเศรษฐกิจที่ดีให้กับชุมชน มีข้าวปลาอาหาร มีผักผลไม้ให้เราคนเมืองได้ดื่มกิน ให้ผู้คนที่ห่างไกลกันได้พึ่งพาอาศัยกัน ให้เขาได้รักษาป่าต้นน้ำให้กับเรา ให้เราได้มีไมตรีให้กับพวกเขา สิ่งเหล่านี้ใช่หรือไม่ที่จำทำให้เราจะก้าวไปด้วยกัน ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างที่เป็นอยู่ การจัดการความท้าทายต่างๆ ของสังคมไทยย่อมเกิดขึ้นได้จริงด้วยการเข้าใจถึงรากฐานและการจัดการอย่างถูกจุดและตรงประเด็น ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมสามารถขยายวงกว้างได้มากขึ้นด้วยการเปลี่ยนและการมีส่วนร่วมจากเราทุกคน ไฟป่าและหมอกควันอาจเป็นเพียงอุปสรรคที่ท้าทายขวางกั้นให้เราได้ร่วมมือและก้าวผ่านไปด้วยกัน เพราะแท้จริงแล้วเราทุกคนคือคนไทยที่มีหน้าที่ต่อ ที่จะสรรสร้างสังคมไปด้วยกัน

      และน่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น “กินอย่างไร ไม่ให้มีการเผา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ข้อเสนอสีเขียว : แม่วากโมเดล รูปธรรมบูรณาการจัดการดินน้ำป่า สู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ภายใต้แม่แจ่มโมเดลและแม่แจ่มโมเดลพลัส

แม่แจ่ม จุดเปลี่ยนแห่งทศวรรษ