ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคปฏิบ้ติ

ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคปฏิบ้ติ

สมเกียรติ มีธรรม


ในทุกๆปีของเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ภาคเหนือตอนบนประสบปัญหาหมอกควันไฟป่าซ้ำซาก หลายภาคส่วนกำลังค้นหาสาเหตุ พื้นที่เผาไหม้ และผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจ ขณะที่ออกของปัญหาทั้งในระดับพื้นที่และนโยบายยังไม่มีความชัดเจนว่า ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวจะไปอย่างไร เอาแค่พื้นที่เผาไหม้ นักวิชาการบางส่วนก็ยังไม่แน่ใจว่า เกิดขึ้นในป่าหรือว่าพื้นที่การเกษตรในเขตป่ามากกว่ากัน แม้จุดความร้อนหรือ hotstpot ชี้ชัดแล้วก็ตาม ฝ่ายวิชาการบางส่วนก็ยังยึดถือข้อมูลเก่าๆ นำมาเล่าความต่อผ่านสื่อต่างๆ จนไขว้เขวหลงทางไปไกล ขุนไม่ขึ้นเลยก็ว่าได้ ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดไม่ตรงประเด็น ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นกระแสการกลับมาของแนวคิด Zero burning ของพวกโลกสวยกลับมาเย้วๆอีกครั้ง โดยไม่มีทางออกที่เหมาะสมให้กับชาวบ้านและภาคส่วนต่างๆทั้งในเชิงนโยบายและในระดับพื้นที่ ก็อาจถูกตีกลับได้เช่นกัน และนั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งของไฟป่า

สาเหตุไฟในป่าฯแบ่งได้ดังนี้
  • พื้นที่ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ และริมทาง มาจาก 1.ล่าสัตว์ป่า 2. เตรียมหาของป่าในฤดูฝน 3. กลั่นแกล้ง 4. ขยายพื้นที่ทำกินโดยวิธีใช้ไฟ 5. มาจากลดปริมาณเชื้อเพลงในป่าขาดหลักวิชาการ 6. แผนจัดการเชื้อเพลิงในป่าขาดประสิทธิภาพ 
  • พื้นที่เกษตรในเขตป่าสงวน และสปก. มาจาก 1. การเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูการถัดไป เนื่องจากการเผาใช้ต้นทุนต่ำ ประกอบกับสภาพพื้นที่สูงชัน ไม่สามารถจัดการโดยวิธีอื่นได้ หรือได้ก็ยุ่งยากและล่าช้า  2. การจัดการเชื้อเพลิงในไร่ขาดการควบคุม 3.แผนจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตรในเขตป่าฯขาดประสิทธิภาพ 4. เผาเศษซางข้าวโพดตามจุดโม่ต่างๆ (ในข้อนี้ที่แม่แจ่มแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้จนไม่มีเศษซางข้าวโพดเหลือให้เผาอีกต่อไป)
  • พื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัย สาเหตุมาจากการเผาขยะและเศษไม้ใบหญ้าในบริเวณบ้านและครัวเรือน
อีกสาเหตุหนึ่งซึ่งจะละเลยไม่ได้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดความแห้งแล้ง เมื่อเกิดไฟก็จะรุกลามไปอย่างรวดเร็วจนควบคุมไม่ได้ ประกอบกับลมฟ้าอากาศไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไว ทำให้เกษตรกรพะวงกับความเสี่ยงในการเตรียมปลูกพืชในฤดูกาลใหม่ หรือกระแสลมและความกดอากาศในแต่ละวัน ทำให้หมอกควันกักขังในพื้นที่ต่ำแอ่งกะทะและหุบเขา เราเลยต้องรับกรรมไปตามๆกัน

จุดความร้อน (hotspot) ถ้าดูย้อนหลังไปถึงปี 2555 จุดความร้อน 9 จังหวัดภาคเหนือบน อยู่ในระดับที่สูงมาก ในปี 2559 เริ่มมีการบริหารจัดการไฟป่าอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่ในบางพื้นที่เริ่มจัดการไฟป่าโดยภาคประชาสังคมและชาวบ้านมาก่อนหน้านี้บ้างแล้ว เช่น แถบตำบลบ้านหลวง ตำบลสบเตี๊ย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียใหม่ หากแต่ในการจัดการไฟป่าในปีนั้น ถ้าดูข้อมูลย้อนหลังไปจะเห็นว่าไม่แตกต่างกับปีก่อนหน้ามากนัก พอกลับมาดูรายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมอำเภอแม่แจ่มจึงได้รับรางวัลการจัดการไฟป่าที่ดีในปี 2559 จนเป็นโมเดลที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ืงแวดล้อมนำไปขยายผลและเผยแพร่ผ่านสื่อของรัฐ นับเป็นจุดเริ่มต้นของแม่แจ่มโมเดลแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าโดยพลังประชารัฐแม่แจ่ม พอปี 2560 จุดความร้อนทุกจังหวัดลดลงจากปี 2559 สูงมาก ส่วนปี 2561 จุดความร้อนลดเล็กน้อย ยกเว้นจังหวัดเชียงรายและลำปางที่ลดลงมากกว่าที่อื่น มาในปีนี้ 2562 ความต่อเนื่องของการจัดการไฟป่าที่เป็นระบบและสร้างมีส่วนร่วมทุกระดับ ทำให้จังหวัดเชียงรายแทบจะไม่มีจุดความร้อนเลยก็ว่าได้

ข้อมูลรายงานสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน Gistda

พื้นที่เผาไหม้ งานวิจัยทั้งหมดชี้เป้าไปที่พื้นที่เกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก หากดูพื้นที่เกิดจุดความร้อนนับแต่มีการบันทึกข้อมูลเป็นต้นมา จุดความร้อนก็ยังบ่งชี้ในพื้นที่ป่ามากกว่าพื้นที่เกษตร ดูได้จาก 2 ตารางในปี 2558 ข้างล่างนี้ได้เลย ส่วนปีหลังๆ พื้นที่เผาไม้ก็ยังอยู่ในป่าเป็นหลัก พื้นที่เกษตรกับลดลงเรื่อยๆ


ข้อมูลรายงานสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน Gistda

ข้อมูลรายงานสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน Gistda

แนวทางการแก้ไขในภาคปฏิบัติ

1. มาตรการป้องกัน

1.1 สร้างกลไกทุกระดับ ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ได้แก่ 

  • ตั้งคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ที่ประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆในรูปแบบ “ประชารัฐฯ” ประกอบด้วย ท้องถิ่น ท้องที่ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน
  • จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ให้มีภารกิจติดตามสถานการณ์ไฟป่า จัดทำข้อมูลสรุปสถานกาณ์รายสัปดาห์ รายงานจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้รายหมู่บ้านและตำบล จัดทำสรุปสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในรอบปี เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการในปีถัดไป
  • ใช้ข้อมูลและสารสนเทศเชิงภูมิศาตร์ สนับสนุนภารกิจแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า
  • จัดตั้งชุดปฏิบัติการดับไฟป่า ระดับหมู่บ้านและตำบล ไว้ดับไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปกครองตนเอง
1.2 รณรงค์/ประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อต่างๆทุกช่องทาง เช่น เสียงตามสายในหมู่บ้าน ผ่านรถขยายเสียงไปตามหมู่บ้านต่างๆ แผ่นพับ ป้ายประชาสัมพันธ์ และจัดขบวนเดินรณรงค์
1.3 ลดปริมาณเชื้อเพลิงในป่าและพื้นที่การเกษตร เช่น จัดทำแนวกันไฟและทำแผนชิงเผาเฉพาะในพื้นที่ที่ชุมชนใช้เตรียมหาของป่า ส่วนซางข้าวโพดที่กองตามจุดต่างๆ ใช้วิธีอัดฟ่อนเอาไปทำเชื้อเพลิงเตาอบลำไยและโรงไฟฟ้า อัดฟ่อนใช้เลี้ยงโค ทำอาหารหมักโค ทำปุ๋ยหมัก ทำถ่าน(ใบโอชา) หรือนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าจากเศษวัสดุเหลือใช้
1.4 ทำหมู่บ้านปลอดเผา โดยใช้วิธีไถกลบ นำต้นข้าวโพดในไร่มากองทำปุ๋ยหมัก เอามาทำเป็นฝายชะลอน้ำตามร่องน้ำและลำห้วยในไร่ เลี้ยงวัวในไร่ นำเศษวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปสร้างมูลค่าให้กับชุมชน
1.5 สร้างแรงจูงใจและสร้างหลักประกันให้จิตอาสา เช่น จัดตั้งกองทุนดับไฟป่า ทำประกันอุบัติ ให้รางวัลหมู่บ้านและตำบลที่มีจุดความร้อนต่ำกว่าที่กำหนด รวมถึงบุคคลตัวอย่าง

2. มาตรการรับมือ ช่วง 60 วันห้ามเผา
2.1 แบ่งหรือกำหนดเขตรับผิดชอบให้แต่ละหน่วยงานดูแล เช่น ป่าสงวนให้หน่วยป้องกันฯและหน่วยไฟป่าดูแล เขตป่าอนุรักษ์ให้อุทยานฯดูแล เขตที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล
2.2 ลาดตระเวรในเขตปกครองหมู่บ้าน ตำบล และเขตรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน
2.3 ประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายในหมู่บ้านและรถขยายเสียงต่อเนื่อง
2.4 เมื่อเกิดไฟในป่า ชุดปฏิบัติการฯระดับหมู่บ้าน ตำบล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนธิกำลังเข้าเผชิญเหตุด้วยกัน
2.5 ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีการสือสารสนับสนุนภารกิจอย่างต่อเนื่อง
2.6 ศูนย์อำนวยการฯ จะคอยเฝ้าติดตาม รายงาน ประสานงาน ให้ความช่วยเหลือ ชุดปฏิบัติการในพื้นที่ต่อเนื่องผ่านสื่อออนลน์

3.มาตรการยั่งยืน

สำหรับ PM 10 และ PM2.5 กรณีหมอกควันไฟป่า

3.1 สร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการไฟป่าระดับชุมชนให้เข้มแข็ง
3.2 จัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าสงวนและป่าอนุรักษ์
3.3 ปลดล็อคนโยบาย กฎหมาย ระเบียบต่างๆ ให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ มีสิทธิในการจัดการป่าไม้ที่ดิน
3.4 พัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและระบบน้ำเพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศบนที่สูงให้กับเกษตกร
3.5 สร้างอาชีพรายได้ทางเลือกที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร ระยะสั้น กลาง และยาว
3.6 ยกระดับชุมชนเป็นเจ้าของกิจการและปัจจัยการผลิต
3.7 เสริมสร้างการท่องเที่ยวชุมชน
3.8 เพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่เกษตรในเขตป่าสงวนฯในรูปแบบสร้างป่าสร้างรายได้
3.9 จัดตั้งกองทุนตอบแทนนิเวศ
3.10 ใช้มาตรการภาษีกับภาคเอกชนที่มีส่วนได้เสียกับการใช้ทรัพยากรดินน้ำป่าโดยตรง
3.11 ส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมที่นำเศษวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรสร้างมูลค่าให้กับชุมชน
3.12 กระจายอำนาจการจัดการไฟป่าและป่าไม้ที่ดินให้กับท้องถิ่นและชุมชน
3.13 สร้างหลักประกันชีวิตให้จิตอาสามีขวัญกำลังใจและความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัย
3.14 มาตราการสร้างความยั่งยืน ฟื้นป่าสร้างรายได้ ผลิตหลากหลาย ใช้พื้นที่น้อย ให้ผลผลิตและรายได้เท่าเดิมหรือมากกว่า ชุมชนเข้มแข็ง ตอบแทนคุณนิเวศ
3.15 สร้างความเป็นเอกภาพในการแก้ไขหมอกควันไฟป่า โดยจัดทำแผนและยุทธศาสตร์แก้ไขหมอกควันไฟป่า ระยะสั้น กลาง และยาว 
3.16 จัดทำข้อมูลสารสนเทศเชิงภูมิศาสตร์เพื่อให้ในกำกับติดตามและบริหารจัดการพื้นที่และไฟป่า
3.17 รัฐบาลต้องมีแนวโนบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน

สำหรับ PM 10 และ PM2.5 กรณีฝุ่นจิ๋วในเมือง

1. บังคับใช้กฏหมายควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมต่างๆ โรงงาน ยวดยานพาหนะ การขนส่ง การก่อสร้าง อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
2. พัฒนาหรือใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. สร้างแรงจูงใจทางด้านภาษีให้กับกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4. เก็บภาษีสิ่งแวดล้อมในอันตราที่สูงขึ้นกับกิจการที่สร้างมลพิษ
5. จัดตั้งกองทุนตอบแทนคุณนิเวศจากการใช้ทรัพยากรโลก
6. ปรับปรุงขนส่งมวลชนให้ทันสมัย สะดวก รวดเร็ว น่าใช้ และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น
7. เพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ป่าในเมือง บ้านเรือน สนง. โรงงาน ถนน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สมเกียรติ มีธรรม ฯ ป่าไม้ ที่ดินทำกินและเศรษฐกิจชุมชน ความยั่งยืนของการจัดการไฟป่า

แม่แจ่ม จุดเปลี่ยนแห่งทศวรรษ

ข้อเสนอสีเขียว : แม่วากโมเดล รูปธรรมบูรณาการจัดการดินน้ำป่า สู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ภายใต้แม่แจ่มโมเดลและแม่แจ่มโมเดลพลัส