ห่วงโซ่อุปทาน เกษตรพันธสัญญา แม่แจ่ม


ห่วงโซ่อุปทาน เกษตรพันธสัญญา แม่แจ่ม

สมเกียรติ มีธรรม



          พืชเศรษฐกิจอำเภอแม่แจ่มที่เกษตรกรปลูกกันตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๔-๒๕๕๗ มีทั้งหมด ๗๓ ชนิด[1] มี ๕๓ ชนิดที่หายไปในช่วงปีพ.ศ.๒๕๔๙ และ ๒๕๕๐ เช่น ยาสูบ พริกขี้หนูสวน พริกใหญ่ ละหุง เผือก มันเทศ ผักชี คะน้า ผักบุ้งจีน แครอท งา ฯลฯ ขณะที่หอมแดงและกะหล่ำปลี แม้จะเป็นที่นิยมกันสูงในช่วงปีพ.ศ.๒๕๔๔-๔๙ พอเข้าปีพ.ศ.๒๕๕๐ กลับมีพื้นที่การปลูกลดลงตามลำดับ พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขยับตัวเพิ่,สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นหลักแสนไร่ในปีพ.ศ.๒๕๕๔
พอปีพ.ศ.๒๕๕๕ และ๒๕๕๖ เกษตรกรหลายราย เริ่มหันมาหาพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่น กาแฟ และยางพารา เนื่องจากบางปีประสบปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ รวมถึงปัญหาหมอกควัน น้ำหลาก ดินถล่ม และภัยแล้ง ที่เริ่มรุนแรงขึ้นทุกปี ทำให้เกษตรกรเริ่มปรับตัวหาพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ทดแทนและชดเชยรายได้ให้สมดุลกับรายจ่ายที่สูงขึ้นไปในแต่ละปี
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงสั้นๆ ของพื้นที่ปลูกยางพารา จาก ๒๑๕ ไร่ในปีพ.ศ.๒๕๕๕ เป็น ๓,๖๗๔ ไร่ในปีพ.ศ.๒๕๕๖ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนของเกษตรกรอำเภอแม่แจ่ม ที่ต้องการออกจากวังวนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ก็ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่ยังคงมีรายได้หลักจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในจำนวนนี้มีอีกไม่น้อยเช่นกันที่ปรับตัวเข้าสู่เกษตรพันธสัญญาหรือที่เรียกว่า คอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง ด้วยการหันมาปลูกข้าวโพดเมล็ดพันธุ์แทน หรือที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่ชาวบ้านว่าข้าวโพดถอดดอก ซึ่งได้ราคาที่แน่นอนกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากการประกันรายได้และประกันราคาของบริษัทที่สนับสนุนและรับซื้อ
ปัจจุบันการปลูกข้าวโพดอำเภอแม่แจ่มแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
กลุ่มที่ ๑. เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ ในกลุ่มนี้เป็นเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ในระบบเป็นส่วนใหญ่ มีบริษัทแปซิฟิคเมล็ดพันธุ์จำกัด บริษัทเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ฯลฯ เข้าส่งเสริมและสนับสนุน เฉพาะบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ มีพื้นที่จำนวน ๓,๐๐๐ ไร่ ในเขตตำบลท่าผาได้แก่ บ้านม่อนมะเฮาะ ตำบลแม่ศึก ได้แก่ บ้านกองกานและบ้านแม่ศึก ตำบลช่างเคิ่ง ได้แก่บ้านห้วยรินและบ้านแม่ปาน
คอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งในอำเภอแม่แจ่ม พอแบ่งได้ ๓ แบบด้วยกันคือ แบบประกันรายได้ แบบประกันราคา และแบบรับซื้อตามราคาตลาดแบบประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดต้องมีปัจจัยการผลิตได้แก่ ที่ดิน แรงงาน และแหล่งน้ำที่พอเพียงสำหรับการเกษตร ส่วนทางบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบด้านเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยากำจัดโรคและวัชพืช รวมทั้งให้คำแนะด้านวิชาการในขั้นตอนการเพาะปลูก เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต บริษัทรับซื้อตามราคาและระดับความชื้นที่ตกลงกันไว้ โดยหักค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายาฯของบริษัทไว้ส่วนที่เหลือเป็นรายได้ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนการประกันราคาแตกต่างจากประกันรายได้ตรงที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดต้องลงทุนเองหมด ทางบริษัทรับซื้อข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ตามราคาและความชื้นที่ตกลงกันไว้
แต่หากเกิดความเสียหายในกระบวนการเพาะปลูกหรือในฤดูกาลเพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ เกษตรกรเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นเอง นอกจากนั้น ยังต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่ขยับตัวสูงขึ้นทุกปีจากดินเสื่อมสภาพ และปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการใช้สารเคมีการเกษตรอีกด้วย
ส่วนพันธสัญญาเมล็ดพันธุ์นอกระบบที่รับซื้อตามราคาตลาด โดยมากเกิดขึ้นกับพ่อค้าคนกลางหรือนายทุนท้องถิ่นกับเกษตรกร บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพียงแต่เกษตรกรมีพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมและมีแรงงาน พ่อค้าคนกลางหรือนายทุนท้องถิ่นเป็นผู้จัดหาเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยามาให้ เมื่อผลผลิตออกมาก็จะรับซื้อตามราคาตลาด หรือเกษตรกรสามารถนำไปขายให้กับพ่อค้าคนอื่นแล้วนำทุนมาคืนก็ย่อมทำได้ พันธสัญญาในลักษณะนี้มีความยืดหยุ่นกว่าพันธสัญญาในระบบ แต่ที่เหมือนกันก็คือเกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยงและต้นทุนที่ขยับตัวสูงขึ้นแต่เพียงผู้เดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกให้กับบริษัท เมื่อนำกลับมาขายให้กับเกษตรกร ราคากลับขยับตัวสูงขึ้นมาก ตัวอย่างเช่น บริษัทซีพีประกันราคาไว้กับเกษตรกรพันธสัญญาในปีพ.ศ.๒๕๕๘ กิโลกรัมละ ๑๘ บาท เมื่อนำไปปรับปรุงสภาพ คลุก เคลือบ และตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธ์แล้วกลับมาขายให้กับเกษตรกร ราคากลับขยับตัวสูงขึ้นมากถึงกิโลกรัมละ ๑๖๐ บาท ส่งผลให้ต้นทุนเกษตรกรพันธสัญญานอกระบบที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้
กลุ่มที่ ๒. เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในกลุ่มนี้เป็นเกษตรพันธสัญญานอกระบบ กล่าวคือ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้ทำสัญญากับบริษัทชัดเจนเหมือกับกลุ่มแรก แต่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องหลายระดับ นับตั้งแต่เกษตรกร ผู้รับจ้างโม่ นายหน้า ผู้รับจ้างขนผลผลิต ผู้รับซื้อรายย่อยในท้องถิ่นหรือพ่อค้าคนกลาง ผู้รับซื้อรายใหญ่ที่มีไซโล/เตาอบ และสุดท้ายก็คือโรงงานผลิตอาหารสัตว์
ในห่วงโซ่อุปทานนี้ พันธสัญญาเกิดขึ้นจากปริมาณความต้องการขายที่เพิ่มสูงขึ้นกับปริมาณความต้องการซื้อวัตถุดิบที่มีมากขึ้น เป็นพันธสัญญาที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติจากระบบอุปทาน ไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนกับกลุ่มแรก ปัจจุบันมีเกษตรกรพันธสัญญานอกระบบในปีพ.ศ.๒๕๕๖ จำนวน ๘,๓๓๒ ราย มีพื้นที่เพาะปลูกจำนวน ๑๔๔,๘๘๐ ไร่ ลดลงมาในปีพ.ศ.๒๕๕๗ เหลือ ,๔๒๗ ราย มีพื้นที่เพาะปลูก ๑๑๘,๗๙๑ไร่[1] ให้ผลผลิตในปี๒๕๕๖/๕๗ เฉลี่ย ๗๓๗ กิโลกรัม/ไร่
ในกลุ่มนี้พอจำแนกพันธสัญญานอกระบบออกเป็น ๔ ประเภทด้วยกันคือ                      
๑. พันธสัญญาที่เกษตรกรต้องขายผลผลิตให้กับพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น พันธสัญญาลักษณะนี้ เกิดขึ้นเมื่อเกษตรกรไม่มีเงินซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยา พ่อค้าคนกลางก็จะจัดหามาให้โดยไม่ต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ต้องขายผลผลิตกลับคืนมาในราคาและความชื้นที่รับซื้อกันทั่วไปในท้องตลาด โดยพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่นจะหักค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา ค่าขนส่งจากโกดังถึงผู้ซื้อรายใหญ่ และค่าดำเนินการกับเกษตรกรพร้อมๆกันไป แต่ถ้าในกรณีที่มีค่าโม่ข้าวโพด ค่าขนส่งจากไร่มาลานโม่ข้าวโพด พ่อค้าคนกลางก็จะหักค่าใช้จ่ายส่วนนี้อีกที ที่เหลือเป็นรายได้ของเกษตรกรไป
๒. พันธสัญญาที่เกษตรกรสามารถขายผลผลิตให้กับใครก็ได้แต่ต้องใช้ทุนคืนให้กับพ่อค้าคนกลาง พันธสัญญาลักษณะนี้ไม่แตกต่างจากกรณีแรก เพียงแต่เกษตรกรเปลี่ยนไปขายให้พ่อค้าคนอื่นในราคาท้องตลาดที่เกษตรกรถูกหักค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากโกดังถึงผู้ซื้อรายใหญ่ ถูกหักค่าดำเนินการ และค่านายหน้า ในราคาที่รับซื้อแล้ว
ส่วนค่าโม่ข้าวโพด ค่าขนส่งจากไร่มาลานโม่ข้าวโพด เกษตรกรเป็นผู้จ่ายเอง ขายได้เท่าไหร่ หักค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยา คืนให้กับพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น ที่เหลือเป็นรายได้ของเกษตรกรไป
๓. พันธสัญญาที่ไม่ผูกพันอยู่กับทุนพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ ใช้พื้นที่บริเวณกว้าง โดยใช้ทุนตนเองจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา จึงมีอิสระในการขายให้กับพ่อค้าท้องถิ่นในราคาที่หักค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากโกดังถึงผู้ซื้อรายใหญ่ หักค่าดำเนินการ หักค่านายหน้าแล้ว
ในกรณีนี้ เกษตรกรต้องจ่ายค่าขนส่งในพื้นที่และค่าโม่เอง ที่เหลือก็จะเป็นรายได้ของเกษตรกรไป ซึ่งส่วนใหญ่คิดรายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา และค่าแรงงานออกไป จึงทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้รู้สึกว่ามีรายได้จากการขายข้าวโพดฯเป็นกอบเป็นกำ
๔. พันธสัญญาซ้อน เกษตรกรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่มีทุนของตนเอง แต่ไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตร(ธกส.) โดยมีสหกรณ์การเกษตรอำเภอเป็นผู้ค้ำประกันให้กับเกษตรกรที่ต้องการปลูกข้าวโพดในวงเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท สำหรับนำไปซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยา กับสหกรณ์การเกษตรเท่านั้น (ไปซื้อกับแหล่งอื่นไม่ได้) เมื่อขายผลผลิตออกไปให้กับพ่อค้าคนกลางในราคาที่หักค่าใช้จ่ายในกระบวนการเก็บเกี่ยวไปแล้ว เกษตรกรต้องนำเงินมาคืนให้กับธนาคารในระยะเวลา ๑ ปี โดยที่แหล่งเงินกู้ไม่มีมาตรการใดๆ ให้กับเกษตรกร และไม่ต้องรับผิดชอบความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดและภัยธรรมชาติ
ห่วงโซ่อุปทานต้นน้ำดังกล่าวมานี้ เกษตรกรต้องจ่ายค่าดำเนินการซึ่งพ่อค้าคนกลางหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว ๑ - ๒ บาท/กก. เมื่อนำมาหักออกจากราคากลาง ก็จะเหลือราคาที่ซื้อจริงจากเกษตรกรพันธสัญญานอกระบบลดลงไป ดังปรากฏในตารางต่อไปนี้

แต่ถ้าปีไหนเกษตรกรพันธสัญญานอกระบบประสบกับโรคระบาดและภัยพิบัติทางธรรมชาติ เกษตรกรก็ต้องแบกรับภาระต้นทุนนั้นไป แต่ถ้าโชคร้ายซ้ำสอง ปีไหนความต้องการอาหารสัตว์ชะลอตัว เช่นที่เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๘ เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ประสบปัญหาไข้หวัดนก ส่งผลทำให้ความต้องการวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ลดลง ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกลงมาอยู่ที่ ๕.๔๘ บาท/กิโลกรัม เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็จะประสบกับภาวะขาดทุนทันที
ขณะที่ห่วงโซ่อุทานกลางน้ำซึ่งทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตรายใหญ่ และห่วงโซ่อุทานปลายน้ำ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์ โดยซีพีมีส่วนแบ่งตลาดมากถึง ๒.๕ ล้านต้นของผลิตรวมต่อปี ๔.๙ ล้านตัน(ปีพ.ศ.๒๕๕๖) แทบจะไม่ได้รับผลกระทบใดในห่วงโซ่อุปทานของเกษตรพันธสัญญานอกระบบ มิหนำซ้ำรัฐยังต้องมาแบกรับภาระด้วยการนำภาษีของประชาชนมาจ่ายชดเชยความเสียหายและช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะราคาตกต่ำอีกด้วย
       ข้อเสนอ
๑. พิจารณารับรองสิทธิร่วม เพื่อให้เกษตรกรมีการโอกาสและมีทางเลือกที่มากไปกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แต่เพียงอย่างเดียว
๒. ปรับปรุงสัญญาที่ทางบริษัททำกับเกษตรกรให้ครอบคลุมความเสี่ยงอันเกิดจากโรคระบาดและภัยพิบัติทางธรรมชาติ
๓. เมื่อรับรองสิทธิ์แล้วให้บังคับใช้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP. (Good Agricultural Practices) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มกษ. ๔๔๐๒-๒๕๕๓ มาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับข้าวโพดแห้ง เพื่อลดปัญหาการเผา การใช้พื้นที่ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างมาตรฐานการเกษตรที่ดี
๔. ให้แหล่งเงินกู้หรือสถาบันการเงิน พิจารณาเงินกู้เพื่อการเกษตรตามกรอบมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับข้าวโพดแห้ง (มกษ.๔๔๐๒-๒๕๕๓) และมีกลไกในการติดตามตรวจสอบตามกรอบมาตรฐานสินค้าเกษตรฯ
๕. จากนั้น ให้โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการเกษตรที่ดี (มกษ. ๔๔๐๒-๒๕๕๓) เพื่อให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ตามราคาที่โรงงานฯกำหนด
๖. ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเกษตร

[1] สำนักงานเกษตรอำเภอแม่แจ่ม ปี ๒๕๕๖,๒๕๕๗
[1] พื้นที่การปลูกไม้ผลเศรษฐกิจเชียงใหม่ ปี ๒๕๔๔-๒๕๕๗, สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สมเกียรติ มีธรรม ฯ ป่าไม้ ที่ดินทำกินและเศรษฐกิจชุมชน ความยั่งยืนของการจัดการไฟป่า

แม่แจ่ม จุดเปลี่ยนแห่งทศวรรษ

ข้อเสนอสีเขียว : แม่วากโมเดล รูปธรรมบูรณาการจัดการดินน้ำป่า สู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ภายใต้แม่แจ่มโมเดลและแม่แจ่มโมเดลพลัส