แม่แจ่มโมเดล ; จุดร่วมบนความแตกต่างในเส้นทางเดียวกัน ของภาคประชาสังคม


แม่แจ่มโมเดล แม่แจ่มโมเดลพลัส ;
จุดร่วมบนความแตกต่างในเส้นทางเดียวกัน
ของภาคประชาสังคม

สมเกียรติ มีธรรม
ตีพิมพ์ใน ENGAGEMENT THAILAND : CMUSR MAGAZINE

การทำงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งสนองต่อองค์กรและแหล่งทุน โดยเอากลุ่มเป้าหมายเป็นสินค้าหรือว่าตัวประกันแบบเดิมนั้นนับวันจะสูญพันธุ์ลงไปเรื่อยๆ การทำงานด้วยใจ เปิดกว้างเรียนรู้ปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน เรียนรู้ไปแก้ไป กลับสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในและความแตกต่างของเนื้อหาและกระบวนการทำงานบนเส้นทางเดียวกันได้อย่างชัดเจน

            จุดร่วมของความแตกต่างในเส้นทางเดียวกันกรณีแม่แจ่มโมเดลและแม่แจ่มโมเดลพลัส ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่มีพัฒนาการของการเรียนรู้ร่วมกันที่นำไปสู่เนื้อหา และกระบวนการที่สร้างความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างท้องถิ่นท้องที่ หน่วยงานด้านป่าไม้ในระดับจังหวัด ภาคประชาสังคม และชาวบ้าน นับตั้งแต่โครงการต่อยอดต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มและอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ในปีพ.ศ.2554 มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธาน แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาและจัดระเบียบที่ดินในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม อำเภออมก๋อย และอำเภอกัลยาณิวัฒนา ตามแนวพระราชดำริ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 อันเป็นที่มาของความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่หันมาใช้จุดแข็งของตนในแก้ไขปัญหาที่ดินกับชุมชน
            บทบาทภาคประชาสังคมในเวลานั้น เน้นไปในด้านประสานการสนับสนุนกิจกรรมจัดระเบียบที่ดินและพัฒนากลไกระดับชุมชน ตำบล ลุ่มน้ำ และอำเภอ ร่วมถึงจัดทำข้อมูลภูมิสารสนเทศการใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงรวมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) กลุ่มสภาพัฒนาเมืองแจ่ม (ปัจจุบันเป็นมูลนิธิฮักเมืองแจ๋ม) และเครือข่ายลุ่มน้ำแม่แจ่ม เป็นกำลังสำคัญ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่เป้าหมาย 49 ใน 100 หมู่บ้าน แต่สามารถดำเนินการได้มากถึง 85 ใน 100 หมู่บ้าน
            ต่อเมื่อโครงการสิ้นสุดลงไป ภาคประชาสังคมกลับไม่ยุติลงเพียงเท่านี้ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ จัดทำข้อมูลแนวเขตที่ดินรายแปลง เพื่อป้องกันการขยายพื้นที่ทำกิน และพัฒนาระบบสิทธิอำนาจการจัดการที่ดินโดยชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนพ.ศ.2553 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ได้กลายเป็นตัวแปรใหม่ภายใต้การดำเนินงานของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ต้องทวงคืนผืนป่า ยับยั้งการบุกรุกป่า และแก้ปัญหาป่ารุกคน ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 เรื่องเพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน

            ภายใต้คำสั่งดังกล่าว ภาคประชาสังคมเล็งเห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน จึงได้ประสานความร่วมมือกับนายวิจิตร หลังสัน นายอำเภอแม่แจ่ม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อขอจัดการตนเองก่อนที่จะถูกจัดการตามคำสั่งฯ 64 และ 66/2557 โดยนำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนพ.ศ.2557 มาเป็นแนวทางในการจัดการตนเอง โดยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้นำชุมชนทั้ง 7 ตำบล จนได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะคืนพื้นที่ที่ถูกใช้ประโยชน์หลังปีพ.ศ.2554 ซึ่งเป็นที่มาของการจัดระเบียบที่ดินที่ใช้ปีพ.ศ.เป็นตัวตั้ง
 
     เมื่อนายทศพล เผื่อนอุดม นายอำเภอคนใหม่เข้ามาประจำการในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2558 ภารกิจสำคัญอันดับแรกที่ท่านทุ่มเทสุดจิตสุดใจก็คือ การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มายาวนาน โดยภารกิจสำคัญนี้ท่านได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้าหากันตามข้อเสนอของภาคประชาสังคม ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาป่าไม้กับชุมชนและหมอกควันไฟป่าอำเภอแม่แจ่ม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ เป็นผู้ลงนาม มีนายอำเภอแม่แจ่มเป็นประธาน ประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ ได้แก่  หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานด้านป่าไม้ในอำเภอและจังหวัดทุกหน่วย สถานีควบคุมไฟป่า ภาคเอกชน นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคประชาสังคม

            ภารกิจสำคัญนี้ คณะกรรมการบูรณาการฯได้ประชุมกำหนดมาตรการไว้ 3 แนวทางคือ มาตรการป้องกัน มาตรการรับมือ และมาตรการยั่งยืน ทั้ง 3 มาตรการนี้ ในระยะแรกมุ่งเน้นเฉพาะมาตรการที่หนึ่งและสองเป็นหลัก เริ่มต้นจากการจัดทำข้อมูลเพื่อบริหารจัดการหมอกควันไฟป่า จัดโซนนิ่งดูแลไฟป่า รณรงค์และประชาสัมพันธ์ ลดปริมาณเชื้อเพลิงในป่าและในไร่ ส่งเสริมและสนับสนุนหมู่บ้าน-ตำบลนำร่องปลอดการเผา ส่วนมาตรการที่ 2 ในช่วงรับมือ 60 วันห้ามเผา ได้มีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจและชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ออกลาดตระเวน ตั้งจุดตรวจ และประชาสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง จนทำให้จุดความร้อน (hotspot) ลดลงจากปีก่อนมากถึงร้อยละ 92.19 หรือจาก 384 จุดในปีพ.ศ.2558  เหลือเพียง 30 จุดในปีพ.ศ.2559 จนอำเภอแม่แจ่มได้รับรางวัลการจัดการไฟป่าดีเด่นในปีพ.ศ.2559
            ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ที่หน่วยงานหนึ่งใด หากแต่สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ตระหนักถึงปัญหาหมอกควันไฟป่า แล้วหันมาใช้ศักยภาพของตนเข้าไปหนุนเสริมมาตรการป้องกันและมาตรการรับมือช่วง 60 วันได้อย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนงบประมาณ การชิงเผา การทำแนวกันไฟ ทำหมู่บ้านปลอดเผา ทำอาหารหมักให้โค อัดแท่งซางข้าวโพดส่งให้ฟาร์มโค หรือเอาไปทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ก็ล้วนแต่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และชาวบ้าน ขณะที่ในช่วง 60 วันห้ามเผา บรรดาเจ้าหน้าที่และชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจทุกระดับและทุกหน่วยงาน กระตือรือร้นออกตรวจตราไปตามที่ต่างๆ ระดมสรรพกำลังจากชาวบ้านและหน่วยงานท้องถิ่นช่วยดับไฟได้ทันทีเมื่อมีการแจ้งเหตุ
            มาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าที่เรียกกันว่า“แม่แจ่มโมเดล”นั้น จะว่ากันไปแล้วเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่วนเวียนกลับมาทุกปี โดยที่รากเหง้าของปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาป่ารุกคนและคนรุกป่า อันนำมาซึ่งปัญหาสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน และปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้

แม่แจ่มโมเดลพลัส มาตรการยั่งยืนที่จะหยิบยื่นความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านและภาครัฐได้อย่างเหมาะสมและเป็นกลางตามข้อเสนอของชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และภาคประชาสังคม  เป็นอีกหนทางหนึ่งซึ่งยากจะปฏิเสธได้ (ตราบใดที่ยังไม่มีทางเลือกใหม่มาทดแทน) กล่าวคือ ชาวบ้านก็ได้สิทธิในที่ดินและได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินต่อไป ได้น้ำทำการเกษตรโดยใช้พื้นที่น้อยลง ขณะที่ภาครัฐก็ได้ป่าและพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นทุกปีจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่โดยไม่มีปัญหาความขัดแย้งอีก
            บทบาทภาคประชาสังคมภายใต้กรอบแม่แจ่มโมเดลพลัส ที่ใช้ปีพ.ศ.เป็นเกณฑ์ในการจัดระเบียบพื้นที่นั้น แทรกอยู่ในยุทธศาสตร์ทั้ง 7 ด้าน นับตั้งแต่การสร้างความเข้าใจ จัดระเบียบคนและพื้นที่ ป้องกันและรักษาป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ พัฒนาและส่งเสริมอาชีพ สร้างจิตสำนึกและถ่ายทอดองค์ความรู้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ใช้ศักยภาพของตนเข้ามาหนุนเสริมให้บรรลุเป้าหมาย 4 ด้าน ภายใต้แนวคิดแม่แจ่มเมืองสีเขียว ได้แก่ มีสิทธิในที่ดิน มีป่าและพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น มีน้ำเพียงพอต่อการเกษตรฤดูแล้ง และมีอาชีพยั่งยืน บนฐานทรัพยากรดินน้ำป่า
            แต่ทว่าการดำเนินงานภายใต้กรอบแม่แจ่มโมเดลพลัส หัวใจสำคัญก็คืองานข้อมูลภูมิสารสนเทศการใช้ประโยชน์ที่ดิน ภาคประชาสังคมโดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือและภาคีองค์กรเครือข่ายอย่างสถาบันอ้อผะหญา มูลนิธิฮักเมืองแจ๋ม และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เข้ามามีบทบาทสูงมาก โดยร่วมกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ดำเนินการเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงในแต่ละหมู่บ้าน จัดทำข้อมูลแผนที่จำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดิน วิเคราะห์เพื่อจัดระเบียบพื้นที่(โซนนิ่ง) จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ ผลักดันสิทธิทำกินให้กับชาวบ้านและพัฒนาระบบสิทธิในการจัดการทรัพยากร ไปจนถึงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการรายงานและกำกับติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินและหมอกควันไฟป่า อันเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วมอำเภอแม่แจ่ม

ขณะที่ยุทธศาสตร์ด้านอื่นก็ขับเคลื่อนพร้อมๆ กันไปตามเป้าหมายของแต่ละองค์กร เช่น ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนในด้านการพัฒนาอาชีพ สร้างพื้นที่รูปธรรมในการจัดระเบียบที่ดินและจัดการน้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น สนับสนุนกล้าไม้ ส่งเสริมปลูกไม้สัก ส่งเสริมปลูกไม้ผลผสมสาน และสร้างป่าสร้างรายได้ เพื่อให้พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยังนำเสนอข้อมูลข้อเท็จในพื้นที่และแนวทางการแก้ไขปัญหาผ่านช่องทางต่างๆ และขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การปลดล็อค มติคณะรัฐมนตรี แก้ไขกฎหมาย และระเบียบที่เป็นอุปสรรคอีกด้วย
เหล่านี้ คือบทบาทภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัส
พบปะหารือรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ

9 ก.พ.61 รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯลงพื้นที่ตำบลบ้านทับ อ.แม่แจ่ม



14 ม.ค.62 นายกรัฐมนตรีและคณะ ลงพื้นที่แม่แจ่ม มอบ คทช.ลุ่มน้ำ 1,2 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สมเกียรติ มีธรรม ฯ ป่าไม้ ที่ดินทำกินและเศรษฐกิจชุมชน ความยั่งยืนของการจัดการไฟป่า

แม่แจ่ม จุดเปลี่ยนแห่งทศวรรษ

ข้อเสนอสีเขียว : แม่วากโมเดล รูปธรรมบูรณาการจัดการดินน้ำป่า สู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ภายใต้แม่แจ่มโมเดลและแม่แจ่มโมเดลพลัส