ไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย ปกากะญอ ข้าคือคน
ไร่หมุนเวียน เป็นระบบการผลิตที่มีมาแต่บรรพกาล และเป็นหัวใจสำคัญในระบบการผลิตของชาวบ้าน ทั้งในฐานะแหล่งผลิตข้าวและอาหารเลี้ยงครอบครัวและชุมชน ทั้งเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านอันหลากหลาย รวมไปถึงเป็นเบ้าหลอมทางด้านความคิดจิตใจของผู้คนในชุมชนให้เกิดความรักใคร่สามัคคีกัน ความมีน้ำจิตน้ำใจต่อกัน ความซื่อสัตย์สุจริต ความสันโดษ ความเป็นคนขยันอดทน และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทั้งในหมู่เครือญาติ เพื่อนบ้าน และผู้อื่น อีกด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบไร่หมุนเวียนเป็นแกนกลางวิถีชีวิตของชาวบ้านก็ว่าได้
ดังปรากฏให้เห็นในมาเดาะมากะหรือวัฒนธรรมการลงแขก, การละเล่นที่เรียกว่ารำกระทบไม้, เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ, ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศที่ส่งผลต่อกระบวนการผลิต ไปจนกระทั่งนิทานหลากหลายรสและเรื่องราวของชาวบ้าน ล้วนเกิดจากระบบไร่หมุนเวียนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “เด็กกำพร้าขนนก” ที่สะท้อนเรื่องราวของเด็กกำพร้ำยากจนคนหนึ่ง ซึ่งนำข้าวเปลือกจากในท้องนกเขาที่ตนยิงได้มาเก็บสะสมไว้ แล้วนำไปปลูกในที่ไร่ของตนจนสร้างฐานะขึ้นมาได้ รวมไปถึงเรื่อง “พามีฉุกับสะเป่ยแมะ”, เรื่อง “สามพี่น้อง” และ “สี่พี่น้อง” ดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งเรื่อง “สิงโต” และเรื่อง “เงิน ทอง และข้าว” ล้วนสะท้อนเรื่องราวของคนกับไร่ข้าวทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิทานเรื่อง “เงิน ทอง และข้าว” นั้น ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ“ข้าว” เช่นเดียวกันกับคำกล่าวของหม่อนเจ้าสิทธิพรที่ว่า “เงินทองเป็นของมายาข้าวปลาเป็นของจริง” ได้อย่างชัดเจน
ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่แฮใต้
บ้านเซโดซา และบ้านบลอเด ก็เช่นเดียวกัน ถือว่า “ข้าว”
เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของชีวิต แต่ก็ไม่ได้มีฐานะเพียง “พืชอาหาร”
เฉกเช่นที่เข้าใจกันทั่วไป หากแต่ข้าวในความหมายของชาวปกาเกอะญอยังหมายถึง
“ผู้มีพระคุณ” ที่มีตำแหน่งสูงกว่ามนุษย์ตามนัยจักรวาลวิทยาของชาวปกาเกอะญออีกด้วย
เพราะเหตุดังนั้นชาวปกาเกอะญอจึงมองข้าวในฐานะธรรมชาติที่มีชีวิต มีจิตวิญญาณ เฉกเช่นเดียวกันกับมนุษย์ทุกรูปทุกนาม
ที่จำต้องให้ความเคารพนับถือ
ความเชื่อดังกล่าวมาข้างต้น
ปรากฎให้เห็นชัดเจนผ่านการคัดสรรข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ของชาวบ้านมายาวนาน
โดยใช้วิธีการลองผิดลองถูกปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์
ถ้าข้าวสายพันธุ์ไหนปลูกแล้วงอกงามและให้ผลผลิตดี ก็แสดงว่าข้าวสายพันธุ์นั้นเลือกที่จะอยู่กับตน
คนในตระกูลก็จะรักษาข้าวสายพันธุ์นั้นไว้ปลูกปีต่อไป
ในทางกลับกันถ้าข้าวสายพันธุ์ไหนปลูกแล้วไม่งามและให้ผลผลิตไม่ดี
ก็แสดงว่าข้าวสายพันธุ์นั้นไม่ต้องการที่จะอยู่กับตน
คนในตระกูลก็จะพากันไปสรรหาข้าวสายพันธุ์ใหม่มาปลูกแทน
การลองผิดลองถูกปลูกข้าวที่ให้ผลิตดีดังกล่าวมานี้
ทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ข้าวมีชีวิตมีจิตวิญญาณ
ที่จะเลือกให้ใครหรืออยู่กับผู้ใดก็ได้ จนกลายเป็นที่มาของการรักษาสายพันธุ์ข้าวไม่ให้สูญหายของแต่ละตระกูลไป
โดยนัยนี้ ไร่หมุนเวียนจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของชาวบ้านในด้านความคิดความเชื่อและพฤติกรรม
ที่ชาวบ้านแสดงออกต่อธรรมชาติ, ต่อมนุษย์ด้วยกัน และต่อการดำเนินชีวิต อาทิเช่น
การเคารพต่อธรรมชาติ, ความรักใคร่สามัคคีกัน ความมีน้ำจิตน้ำใจต่อกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน,
ความขยันอดทน และความสันโดษ ไม่ละโมบโลภมาก
ทำแต่พออยู่พอกินไม่สะสมส่วนเกินไว้มากมาย
หรือแม้แต่ข้าวที่ชาวบ้านถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในชีวิต
ก็คิดทำกันแต่พออยู่พอกินเท่านั้น จะหาซื้อขายข้าวกันในหมู่บ้านไม่มี
สิ่งเหล่านี้
ล้วนเกิดจากไร่หมุนเวียนของชาวบ้านที่มีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน แม้ในปัจจุบันความเชื่อของชาวบ้านที่มองข้าวว่าเป็นสิ่งมีชีวิตมีจิตวิญญาณ
และเป็นผู้มีพระคุณที่มีตำแหน่งสูงกว่ามนุษย์ตามนัยจักรวาลวิทยาของชาวปกาเกอะญอจะไม่มีอิทธิต่อผู้คนเท่าไหร่
แต่ระบบไร่หมุนเวียน
ก็ยังสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดการทรัพยากรการผลิตได้เป็นอย่างดี
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ทำลายระบบนิเวศดินน้ำป่า,
กระบวนการผลิตที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพในไร่
ไปจนถึงการจัดการแรงงานการผลิตที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนทุกระดับ
ก็ยังปรากฏให้เห็นกันจนกระทั่งทุกวันนี้
การทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้านแม่แฮใต้
บ้านเซโดซา และบ้านบลอเดนั้น ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียนติดกันเป็นผืนใหญ่รอบๆ หมู่บ้าน
โดยมีระยะทิ้งร้าง 6
ปี
เมื่อหมุนไปทำไร่ในพื้นที่แห่งใหม่ก็จะหมุนไปพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน
เนื่องจากง่ายต่อการจัดการด้านแรงงาน การถางไร่ การเผาไร่ การทำแนวกันไฟ
การดูแลรักษา มาจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต
การทิ้งร้างเป็นเวลาหลายปี
และการหมุนไปทำไร่ในพื้นที่แห่งใหม่พร้อมกันทั้งหมู่บ้านดังกล่าวมานี้
มีผลต่อการผลิตข้าวและพืชอาหารอื่นสูงมาก เนื่องจากทำให้ดินที่ถูกทิ้งร้างมาหลายปี
มีเวลาฟื้นฟูธาตุอาหารที่เอื้อต่อการเพาะปลูกในรอบใหม่
โดยไม่ทำให้ดินเสื่อมโทรมไปเหมือนกับการปลูกพืชเชิงเดียวในพื้นที่ราบ
อีกทั้งยังช่วยกำจัดวัชพืช โรคพืช และป้องกันแมลงศัตรูพืชต่างๆ
ที่มารบกวนพืชในไร่อีกด้วย ยิ่งมีระยะทิ้งร้างหรือรอบการหมุนเวียนนานเท่าไหร่
ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ก็จะเบาบางลงไปเท่านั้น
โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีการเกษตรแต่อย่างใด
เมื่อจำแนกพื้นที่ตั้งและขนาดไร่หมุนเวียนออกมาในแต่ละหย่อมบ้าน
ก็จะเห็นพื้นที่ตั้งและขนาดแตกต่างกันไปดังตารางจำแนกไร่หมุนเวียนแต่ละหย่อมบ้านต่อไปนี้
หย่อมบ้าน
|
พื้นที่ไร่หมุนเวียน
|
ปี พ.ศ.
|
จำนวน/ไร่
|
รวมปี 2551/ไร่
|
เฉลี่ยครอบครัว/ไร่
|
แม่แฮใต้
|
1. แม่อุปรุ๊ป่า
2. ไหน่กวอ (หนองแดง)
3. หว่าสึเด่ (กิ่วป่าปง)
4. ขอพะโด่หลู่ (สันไม้ข้อใหญ่)
5. กะทีโบปู่ (ห้วยผักบอน)
6. ปอหย่าต่าโจ (ม่อน)
|
2547
2548
2549
2550
2551
2552
|
680
600
640
400
600
500
|
1,172.9
|
8.8
|
เซโดซา
|
1. ปก่าโล้ เป่อหน่อยส่าโกล๊ะปือพะโดะ
2. ปุลุป่าปอ ฉกี่ปาเทาะหลู่
3. แม่ปอซี
4. แม่ปอปา โมโลปา
5. แดลอโพ เส่อมีว่ะหลู่ล่าง เส่อแลป
6. พ๊ะแตะโม
|
2547
2548
2549
2550
2551
2552
|
271
302
226
304.3
276
247.3
|
||
บลอเด
|
1. เซนหญ่าปู
2. กูหว่าฮีโกล๊ะ
3. เคล่อเดโข่
4. เสปิโต๊ะขือโล่
5. เสขู่ป่า
6. เดมู่เบลอ
|
2547
2548
2549
2550
2551
2552
|
296.9
|
โดยไร่หมุนเวียนแต่ละพื้นที่
ตั้งอยู่รอบๆ หมู่บ้านในระดับความลาดชันต่ำสุดและสูงสุด 15 และ 80
เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในระดับความลาดชัน 20 - 40
เปอร์เซ็นต์ และในปี 2551 มีการใช้ที่ดินทำไร่หมุนเวียนรวมกัน
1,172.9 ไร่
คิดเป็นร้อยละ 13.08 ของพื้นที่ไร่หมุนเวียน
เฉลี่ยครอบครัวละ 8.8 ไร่
ให้ผลผลิต 20 – 30 ถังต่อไร่
เมื่อจำแนกออกเป็นรายหย่อมบ้านก็จะพบว่า บ้าน
บลอเดมีการทำไร่หมุนเวียนต่อครัวเรือนสูงสุด
รองลงมาได้แก่บ้านแม่แฮใต้และบ้านเซโดซา ตามลำดับ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 21.20, 9.38 และ 5.11 ไร่ต่อครัวเรือน
จำนวนพื้นที่การทำไร่หมุนเวียนดังกล่าวมานี้
โดยความเป็นจริงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นและจำนวนของสมาชิกในแต่ละครอบครัว
ถ้าครอบครัวไหนมีสมาชิกมาก พื้นที่ทำไร่ก็จะขยับตามขึ้นไปด้วย โดยครอบครัวนั่นๆ
กับเครือญาติหรือเพื่อนบ้านที่มีไร่ติดกันก็จะแบ่งปันพื้นที่กันเอง
จึงทำให้ครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคนมีพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้น
ผลผลิตที่ออกมาก็จะเพียงพอไว้รับประทานตลอดทั้งปี (ถ้าผลผลิตอยู่ที่ 20 ถังต่อไร่ขึ้นไป)
เมื่อจำแนกพื้นที่ทำไร่ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขดังกล่าวมานี้ ก็จะพบว่า ในปี 2551
มีครัวเรือนที่มีพื้นที่ไร่หมุนเวียนต่ำสุดอยู่ที่ 1 ไร่ จำนวน 3 ครอบครัว สูงสุดอยู่ที่ 50 ไร่ จำนวน 1 ครอบครัวเช่นกัน แต่โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 6,
5 และ 30
ไร่
การแบ่งปันพื้นที่ทำกินให้แก่กันและกันโดยคำนึงความจำเป็นของแต่ละครอบครัวเป็นที่ตั้ง
สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการทำไร่หมุนเวียนอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งหล่อหลอมความเสียสละ
ความรักสามัคคี ความมีน้ำจิตใจต่อกันและกันทั้งในหมู่เครือญาติและเพื่อนบ้าน จนกลายเป็นคุณลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งพบเห็นได้ในหมู่บ้าน
รวมทั้งชาวปกาเกอะญอในที่อื่นๆ อีกด้วย
การทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน
จะเริ่มขึ้นราวๆ กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี ก่อนที่จะลงมือถางไร่
คณะกรรมการหมู่บ้านก็จะเรียกประชุมสมาชิกทุกหลังคาเรือน เพื่อวางแผนการถางไร่
จากนั้นก็จะให้ครอบครัวผู้อาวุโสสูงสุดในหมู่บ้านลงมือถางไร่ก่อน
เพื่อความเป็นสิริมงคลและพืชผลจะได้งอกงามให้ผลผลิตดี หลังจากนั้นชาวบ้านชายหญิงและเยาวชนคนหนุ่มสาวในหมู่บ้าน
ต่างก็พากันสะพายย่าม ถือมีด เดินออกจากบ้านไปลงแขกถางไร่ พร้อมกับตากทิ้งไว้แห้งและทำแนวกันไฟ
พอในเดือนเมษายน
ก่อนเผาไร่ ผู้นำชุมชนก็จะแจ้งแก่ชาวบ้าน ไม่ให้นำวัวควายเข้าไปในบริเวณไร่
และแจ้งให้ทุกคนในหมู่บ้านเตรียมตัวช่วยกันดับไฟในกรณีที่ไหม้รุกลามออกไปในที่อื่นๆ
เมื่อชาวบ้านทยอยเผาไร่ไปจนเสร็จ ต่างก็พากันเก็บเศษไม้ในไร่
โดยเหลือแต่ตอและท่อนไม้ใหญ่ๆ ไว้ ส่วนเศษไม้และกิ่งไม้ขนาดเล็กและกลาง
ส่วนหนึ่งก็จะเก็บไว้ทำฟืน
อีกส่วนหนึ่งนำมาเผาเพื่อให้ได้ขี้เถ้าไว้สำหรับปลูกพืชต่อไป
พอปลายเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม
เมื่อสายฝนโปรยปรายลงมา ชาวบ้านก็พากันลงแขกปลูกข้าวไร่ ที่ได้ผสมเมล็ดพันธุ์พืชอาหารนานาชนิดลงไป
เช่น งา ถั่วบางชนิด แตง ฯลฯ
รวมถึงดอกไม้บางชนิด เช่น พอกวอ พอทู พอบอ เป็นต้น ส่วนพืชที่ไม่ปลูกผสมกับข้าวไร่
ก็จะปลูกแยกออกไปในช่วงเวลาที่ต่างกัน พืชอาหารบางชนิดก็ปลูกก่อนปลูกข้าว
บางชนิดก็ปลูกในเวลาเดียวกันกับปลูกข้าว บางชนิดก็เว้นไปเป็นสัปดาห์
บางชนิดก็ต้องรอให้ข้าวโผล่พ้นดินมาก่อน
และบางชนิดก็ต้องรอให้ฝนลงมาสม่ำเสมอจึงจะปลูกได้
ในการปลูกพืชที่ไม่ได้ผสมลงไปในข้าวนั้น
ชาวบ้านก็จะปลูกกระจายไปตามจุดต่างๆ ทั่วทั้งไร่ โดยคำนึงถึงสภาพของพื้นที่
สภาพของดิน ประโยชน์ที่ได้รับ และชนิดของพืชเป็นหลัก
เช่นพืชบางชนิดก็จะนำไปปลูกบริเวณริมรั้วรอบๆ ไร่เพื่อใช้เป็นแนวกั้นเขตแดน
บางชนิดก็ปลูกใกล้ตอไม้หรือท่อนไม้ใหญ่เพื่อให้เลื่อยขึ้นตอไม้และง่ายต่อการเก็บมาทำอาหาร
บางชนิดก็ปลูกบริเวณที่มีความลาดชันสูงเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน
บางชนิดก็ปลูกบริเวณที่มีความลาดชันต่ำเพื่อดักตะกอนที่น้ำฝนชะล้างลงมา
และบางชนิดก็ปลูกบริเวณร่องน้ำฝนเพื่อลดความเร็วของน้ำ อย่างนี้เป็นต้น
พืชที่ปลูกมีทั้งพืชกินหัวจำพวกเผือกและมัน พืชที่เป็นเถามีจำพวกถั่ว แตง
และพืชล้มลุก ก็จะมีจำพวกพริก มะเขือ และงา เป็นต้น
การผสมเมล็ดพันธุ์พืชนานาชนิดลงไปในข้าวไร่
และการปลูกพืชอาหารหลากหลายชนิดกระจายไปตามจุดต่างๆ ทั่วทั้งพื้นที่นั้น สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดการพืชไร่ให้เกิดความสมดุลได้เป็นอย่างดี
นอกจากพืชที่ปลูกลงไปจะช่วยยึดหน้าดินในบริเวณนั่นไม่ให้พังทลาย และเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าไปเก็บหาอาหาร
รวมถึงป้องกันพืชแย่งธาตุอาหารจากข้าวในไร่แล้ว ยังเป็นการรักษาธาตุอาหารในดินไว้
และป้องกันโรคและแมลงต่างๆ ที่มากัดกินพืชไรได้อีกด้วย
การดูแลรักษาไร่ข้าว
ชาวบ้านจะเริ่มดูแลรักษานับตั้งแต่วันที่ปลูกข้าวและพืชต่างๆ เป็นต้นไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต
เป็นแต่ว่าในระยะต้นๆ การดูแลรักษาไม่เข้มข้นเท่ากับตอนข้าวเริ่มออกรวง เนื่องจากในระยะนี้ข้าวยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่
และบางครอบครัวก็เริ่มมีการนำปุ๋ยเคมีมาใช้
แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอาศัยธาตุอาหารในดินและอาศัยน้ำฝนมาเติมความชื้นให้กับข้าวและผืนดินเป็นหลัก
จากนั้นประมาณเดือนเศษๆ เมื่อวัชพืชเริ่มปกคลุมต้นข้าวและพืชอาหาร ชาวบ้านก็จะเริ่มลงแขกกันในหมู่เครือญาติและเพื่อนบ้านดายหญ้า
ราวๆ ปลายเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายนครั้งหนึ่ง และในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนอีกหนึ่งครั้ง
โดยทิ้งระยะห่างประมาณ 2 เดือนเศษๆ ในรอบการทำไร่หนึ่งปีมีการดายหญ้า 2 ครั้ง
แต่บางครอบครัวดายหญ้า 3 ครั้งก็มี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัชพืชในไร่เป็นหลัก
ถ้าหากวัชพืชรกมากในช่วงข้าวออกรวง ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่ข้าวต้องการสารอาหารมาก
ก็ต้องกำจัดวัชพืชออกไปอีกครั้ง (ดังปรากฏในวงเวียนกิจกรรมและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับไร่หมุนเวียนดังต่อไปนี้)
นอกจากนั้นปัญหาสัตว์ป่าเข้ามากัดกินพืชไร่
ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ชาวบ้านดูแลเอาใจใส่ไม่แพ้วัชพืช โดยเฉพาะในช่วงที่ข้าวเริ่มออกรวง
กลิ่นหอมของข้าวไร่ที่ฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งป่าก็จะชักชวนให้หนู หมูป่า กระรอก และนก
มากัดกินข้าวไร่ ตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยวข้าว
ชาวบ้านก็จะนำกับดักที่เตรียมไว้ในช่วงหลังฤดูการเก็บเกี่ยวไปวางไว้ตามจุดต่างๆ
ที่มีร่องรอยของหนูและกระรอกเข้ามากัดดินพืชไร่ และพากันไปซุ่มดักยิงหมูป่าที่เข้ามากัดกินข้าวไร่ในเวลากลางคืน
ส่วนปัญหาแมลงและโรคพืชมีไม่มาก เนื่องจากในไร่มีความหลากหลายทางชีวภาพ
ที่ช่วยสร้างความสมดุลระหว่างแมลงและโรคพืชต่างๆ ประกอบกับรอบการหมุนเวียนหลายปี
ทำให้มีแมลงและโรคพืชน้อยมาก
ส่วนการเก็บเกี่ยวข้าวไร่
ก็จะเริ่มขึ้นราวๆ เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี ในระหว่างนี้ชาวบ้านก็จะทยอยกันลงแขกในหมู่เครือญาติหรือจ้างเพื่อนบ้านมาช่วยกันเกี่ยวข้าวในไร่
จากนั้นก็ตากไว้ 3
- 5 วัน
แล้วจึงทำการหนวดข้าวไร่และนำมาเก็บไว้ที่ยุ้งฉาง
ส่วนข้าวที่นำมาทำเชื้อปีต่อไปก็จะปล่อยทิ้งไว้ให้แก่จัดอีก 1 - 2 สัปดาห์จึงพากันมาเก็บเกี่ยว โดยข้าวที่ชาวบ้านนิยมปลูกกันมากได้แก่
ข้าวพันธุ์บือมื่อและพันธุ์บือมื่อโพ ส่วนพันธุ์บือกี่, บือข่า, บือวาโพ
และบือมื่อวากลอ ปลูกกันไม่มากนัก ขณะที่พืชอาหารซึ่งมีทั้งพืชที่กินยอด ใบ ผล
และหัว ชาวบ้านก็จะเลือกเก็บบางส่วนมาทำอาหารตลอดฤดูกาลเพาะปลูก บางส่วนก็เก็บไว้ทำเชื้อปีต่อไป
โดยปล่อยให้เมล็ดและผลแก่จัดแล้วจึงนำมาเก็บไว้ที่บ้าน
ในขั้นตอนของการทำไร่ดังที่ได้กล่าวมานี้
สิทธิอำนาจชายหญิงลดความสำคัญลงไป กลายเป็นเรื่องของครอบครัวและชุมชน
โดยผู้หญิงมีบทบาทเด่นขึ้นมาในเรื่องการปลูกพืชอาหารและเก็บหาอาหารในไร่
ดังแสดงไว้ในตารางข้างล่างนี้
ตารางแสดงสิทธิอำนาจการตัดสินใจ
แรงงาน และความรับผิดชอบ ในพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชายหญิง
กิจกรรม
|
สิทธิอำนาจ (ชาย,
หญิง)
|
||
การตัดสินใจ
|
แรงงาน
|
รับผิดชอบ
|
|
1. เลือกพื้นที่
|
ครัวเรือน
|
ชุมชน,ครัวเรือน
|
ครัวเรือน
|
2. ถางไร่
|
ครัวเรือน,ชุมชน
|
ครัวเรือน,ชุมชน
|
ครัวเรือน
|
3. เผาไร่
|
ครัวเรือน
|
ครัวเรือน,ชุมชน
|
ครัวเรือน,ชุมชน
|
4. เก็บเศษไม้
|
ครัวเรือน
|
ครัวเรือน
|
ครัวเรือน
|
5. ขุดหลุม/ยอดเมล็ดข้าว
|
ครัวเรือน
|
ครัวเรือน,ชุมชน
|
ครัวเรือน
|
6. ปลูกพืชอื่นในไร่
|
หญิง
|
หญิง
|
หญิง
|
7. ดูแลรักษา
|
ครัวเรือน
|
ครัวเรือน
|
ครัวเรือน
|
8. เก็บอาหาร
|
หญิง
|
หญิง
|
หญิง
|
9. เก็บเกี่ยวผลผลิต
|
ครัวเรือน
|
ครัวเรือน,ชุมชน
|
ครัวเรือน
|
10.บริโภคและขาย
|
ครัวเรือน
|
ครัวเรือน
|
ครัวเรือน
|
11. ดูแลหลังการเก็บเกี่ยว
|
ครัวเรือน
|
ครัวเรือน
|
ครัวเรือน
|
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินงานด้านการป้องกันยาเสพติดในชุมชน กรณีศึกษาบ้านแม่แฮใต้ หมู่ที่ 9 ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่มจ.เชียงใหม่ Study of Factors that Contribute to Successes of Narcotic Drug Prevention Efforts in Community : The Case of Ban Maehair Tai, Moo 9, Tambon Panghinfon, Maechaem District, Chiang Mai Province, สมเกียรติ มีธรรม สนับสนุนจากโครงการจัดการองค์ความรู้เรื่องยาเสพติด บริหารโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น