ก้าวไปด้วยกัน ผ่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 4 อำเภอ
ก้าวไปด้วยกัน
ผ่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 4 อำเภอ
(ฮอด ดอยเต่า อมก๋อย แม่แจ่ม)
สมเกียรติ
มีธรรม
โดยส่วนตัวจะขยับการงานพื้นที่ไหนก็มักจะสนใจประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้น
ผ่านเรื่องเล่า ตำนาน ปรัมปรา หรือไม่ก็จากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อที่จะทำความเข้าใจบริบทพื้นที่นั่นๆ
ผ่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างเข้าอกเข้าใจ (เข้าถึง และพัฒนา)
ฮอด ดอยเต่า
อมก๋อย เมืองสามเส้าแห่งอดีต คือเมืองที่เป็นเส้นทางสายไหมในครั้งเก่าก่อน จากการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่กระจายอยู่ทั่วไปตามเนินเขาหลายหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลแม่ตื่น
ตำบลม่อนจอง และตำบลยางเปียงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ทำให้ทราบว่าอมก๋อยมีคนอาศัยอยู่กันมาหลายพันปี และเป็นถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าลัวะมาก่อน
แม้แต่ชื่ออมก๋อยก็มาจากภาษาลัวะ การค้นพบชุมชนโบราณลุ่มน้ำปิง บริเวณสบแจ่มลงไป
รวมถึงวัตถุโบราณต่างๆแถบนี้ หรือบันทึกทางประวัติศาสตร์ ก็ต้องบอกว่าฮอดคือเส้นทางสายไหมเชื่อมเชียงใหม่-อยุธยา-เมาะตะมะแท้จริง
ขณะที่เมือง “หอด” หรือเมืองฮอดในปัจจุบัน ก็มีชื่อหลักฐานปรากฏตามบันทึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “มังทรารบเมืองเชียงใหม่” “ตำนานนางจามเทวี” มีการค้นพบร่องรอยของการสร้างชุมชนโบราณตลอดลุ่มน้ำปิงที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ตั้งแต่สบแจ่มลงไปจนถึงจุดสร้างเขื่อนภูมิพล ทั้งมีการค้นพบโบราณสถานกว่า 30 แห่ง มีอายุย้อนไปถึงพุทธศตวรรษที่ 14-19 สมัยแคว้นหริภูญไชยก่อนอาณาจักรล้านนาด้วยซ้ำ นอกจากนั้น ยังมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุอีกหลายรายการ มีทั้งพระพุทธรูป เครื่องถ้วยจีน เครื่องทองและเงิน ไปจนถึงพระบฏ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ จากวัดเจดีย์สูง วัดศรีโขง วัดดอกเงิน และวันสินหนอง ที่สำคัญฮอดในอดีต ยังเป็นเมืองท่าสำคัญในการค้าขายระหว่างอยุธยากับเชียงใหม่ โดยจะเลี่ยงเส้นทางออกไปจากดอยเต่าเสียมิได้
จากตำนาน “หิงหนวัต” ซึ่งเป็นตำนานที่มีอายุเก่าแก่กว่า 1500 ปีแล้ว กับตำนาน“พระธาตุหลวงลำพูน” ปรากฏชื่อดอยเต่าอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะตำนานฉบับหลัง ได้พูดถึงการเดินทางมาหริภูญไชยของพระนางจามเทวี ผ่านพื้นที่ดอยเต่า
แวะสร้างพระเจดีย์ขึ้นที่ดอยเกิ้ง เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสาริกธาตุส่วนพระนลาฏ
ซึ่งพระสุวรรณอรหันต์ พุทธสาวกในครั้งนั้นถวายเป็นพุทธบูชา โดยพระนางได้แต่งดาเครื่องไทยทานสวยงาม
พร้อมบริวารจัดริ้วขบวนเดินผ่านทุ่งนาขึ้นมาทำบุญที่พระธาตุแห่งนี้ เป็นที่ตรึงตราตรึงใจของผู้คนในเวลานั้น
จนเรียกขานกันว่าทุ่งผาสาด(ปราสาท) หรือบ้านทุ่งปราสาทในปัจจุบันนั้นเอง
อีกตำนานหนึ่งของดอยเต่า คือตำนาน“บ้านตาลดอยเต่า”ได้เล่าที่มาของคนดอยเต่าไว้ว่า
คนดอยเต่าหนีศึกสงครามพม่ามาจากเชียงตุง โดยมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านตาล แต่ถูกเจ้าเมืองอังวะนำกองทัพมาไล่จับจนบ้านแตกสาแหรกขาด
บางส่วนหลบหนีมาอยู่ที่บ่อเหล็ก หรือบ่อหลวง อ.ฮอดในปัจจุบัน
บางส่วนก็ยังหลบไปหลบมาอยู่ในพื้นที่ เมื่อเจ้าเมืองอังวะจับตัวผู้นำท่านหนึ่งได้ที่บ้านตาล
แล้วพาตัวไปอยู่เมืองอังวะ ผู้นำบางส่วนก็พากันกลับมาอยู่ที่เดิม
บางส่วนก็กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น บ้านเกาะหลวง ต.โปงทุ่ง และบ้านสันป่าดำ
ต.ดอยเต่าในปัจจุบัน ฮอดกับดอยเต่าจึงเหมือนเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันในแง่ของประวัติศาสตร์สังคมและชุมชนลุ่มน้ำปิง
เรื่องราวของอมก๋อย ฮอด-ดอยเต่า สัมพันธ์กันด้วยเส้นทางสายไหม
จากเชียงใหม่ลงไปอยุธยาและแยกมาตะวันตกจนถึงเมาะตะมะ โดยมีฮอดเป็นเมืองท่าสำคัญบนเส้นทางสายไหมแห่งนี้
ในคราที่เชียงใหม่พ่ายศึกแก่พม่า ก็พาเชลยศึกเดินผ่านมายังเส้นทางนี้อีกเช่นกัน แต่ทว่าแม่แจ่มแม้อยู่ระหว่างสองดินแดนในประวัติศาสตร์
เสมือนกับเป็นเมืองลับแลที่ถูกปิดกันด้วยเทือกเขาอินทนนท์ ผู้คนเดินทางผ่านเหมือนกับหลงทางเข้ามา
ดังพระอานนท์ที่เดินทางจากเมืองเมาะตะมะไปศึกษาพระธรรมที่เชียงใหม่ ราวปีพ.ศ.1912
ขากลับมามรณภาพที่วัดช่างเคิ่งในปัจจุบัน
นี้เป็นหลักฐานหนึ่งซึ่งปรากฏในตำนานมูลศาสนา“ชินกาลมาลีปกรณ์”ของแม่แจ่ม
แต่ถ้าพูดถึงภูมิประวัติสังคม ต้องบอกว่าพื้นเพเดิมมีชนเผ่าลัวะอาศัยอยู่มาก่อนเช่นเดียวกันกับฮอด
ดังปรากฏโบราณสถานมากมายเรียงรายร่วม 300 กว่าแห่งตลอดลุ่มน้ำแจ่ม
กิจกูฎวัดยางหลวง ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดดและวัดพุทธเอ้น แสดงถึงยุครุ่งเรืองของศิลปะวัฒนธรรมในพุทธศตวรรษ
19 ได้เป็นอย่างดี “ลัวะหิงไฟไตหิงเต๋า”ที่คนแม่แจ่มสมัยก่อนพูดกัน
ก็บ่งบอกถึงตำนานเจ้าถิ่นดังเดิมได้อีกเช่นกัน ตราบจนเมื่อเจ้าเมืองเชียงใหม่ส่งพระยาเขื่อนแก้วจากเชียงรายมากินหัวเมือง
ยุคเก็บผักใส่ส้าเก็บข้าใส่เมืองก็เริ่มขึ้น ต่อมาเมื่อเมืองเชียงใหม่ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพด้วยกลอุบายอันแยบยลในรัชกาลที่
5 การปกครองก็เปลี่ยนไป
ชาวบ้านที่ไม่เคยถูกเก็บภาษีก็ต้องจ่ายภาษี บ้างก็หลบหนีบ้างก็ต่อต้าน
จนเกิดเหตุการณ์ฆ่านายอำเภอที่ว่าการอำเภอเก่าบ้านอะฮาม หรือบ้านยางหลวงปัจจุบัน
เมื่อพูดถึงประวัติศาตร์ท้องถิ่นแม่แจ่ม
ก็เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดถึงการเสด็จมาห้ามศึกของพระพุทธองค์ ผ่านเรื่องเล่าปรัมปรา
ณ บ้านช่างเคิ่ง จนสิงห์สองพี่น้องที่ทะเลาะกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่หันมาดีต่อกัน
โดยให้สิงห์ผู้พี่ปกครองเขตแดนด้านเหนือ ผู้น้องปกครองเขตแดนด้านใต้
พร้อมกับมอบพระเกศา 8 เส้นไว้ให้บูชา อันเป็นที่มาของการสร้างเจดีย์ทั้ง 4
มุมเมืองที่คนแม่แจ่มเคารพกัน
นอกจากนั้น
ตำนานสายผีก็ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนพื้นเมืองแจ่มผ่านตำนาน“สุวรรณคำแดง” และ“ตำนานเชียงแสน”
ม่วงก๋อน กอนเมือง ดอนแต่น ที่ชาวไทยวนแม่แจ่มอัญเชิญมาจากอ่างสลุงหรือดอยหลวงเชียงดาว
ให้มาสถิต ณ ดงหอบ้านใต้ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยวนแม่แจ่ม และลวดลายซิ้นตีนจกแบบเชียงแสน
ที่ชาวแม่แจ่มรักและหวงแหนในเวลานี้ ล้วนแต่ชี้ให้เห็นประวัติศาสตร์สังคมของคนไทยวนแม่แจ่มกับชาวไทยวนลุ่มน้ำปิงตอนบนได้เป็นอย่างดี
เรื่องราวเหล่านี้
หลายต่อหลายเรื่องถูกบันทึกในตำรา แต่ทว่ากลับไม่เคยอยู่ในตำราเรียน
ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบ บันทึกต่างๆตามตำนานท้องถิ่น และยิ่งเรื่องเล่าปรัมปราด้วยแล้ว
ประวัติศาสตร์สังคมในระบบการศึกษาไม่ให้ความสำคัญเลยก็ว่าได้
นี้อาจเป็นอีกแง่มุมหนึ่งซี่งจะหลอมความเป็นท้องถิ่นเข้าหากัน
ในปริมณฑลภูมินิเวศนั้นๆ ที่เราต่างก็มีประวัติศาสตร์อันควรภาคภูมิใจร่วมกัน
ไม่เว้นแม้แต่ชาติพันธุ์ใดๆ เพราะเราต้องก้าวไกลไปด้วยกันสู่สังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น