ปลดล็อคสิทธิเชิงซ้อนคทช.#๑

 

สมเกียรติ มีธรรม

คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือที่เรียกย่อๆว่า "คทช." ได้ดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยในเขตป่าให้กับราษฏรตามแนวนโยบายรัฐบาล ภายใต้ "โครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ยากไร้"

โครงการนี้ ถ้าไม่คิดอะไรมาก มองไปที่การอนุมัติอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี โดยที่ยังไม่พูดถึงรายละเอียดกัน

แต่ถ้ามีคำถามต่อคำว่า “ผู้ยากไร้” คงต้องกลับไปดูความหมายอีกทีว่า ผู้ยากไร้คือใครบ้าง…?

เมื่อหันกลับไปดูนิยามคำว่า"ผู้ยากไร้" มันหมายถึง บุคคลที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายดำรงชีวิตตามความต้องการพื้นฐานขั้นต่ำที่ทุกคนในสังคมควรได้รับ สำหรับคนไทยอยู่ที่ 32,000 บาท/คน/ปี ใครที่มีรายต่ำกว่าเกณฑ์นี้ต้องถือว่าผู้ยากไร้

สำหรับบ้านเราในปี 2563 ประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์นี้มีมากถึง 5.8 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท ในจำนวนนี้มี 5.6 แสนกว่าครอบครัว มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ ที่มักจะมีปัญหาเนื่องๆกับภาครัฐ ไม่ว่าเป็นป่ารุกคนและคนรุกป่า เป็นคดีกันมาต่อเนื่องหลายยุคสมัยโดยไม่รู้ว่าจะจบที่รุ่นเราเมื่อไหร่ (ผู้เฒ่าหลายคนที่ทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ผมดำยันผมงอกเต็มหัว..ป่านนี้ก็ยังไม่จบสักที)

        โดยนัยนี้ดอกกระมั่ง การอนุมัติอนุญาตจึงมีเงื่อนไขมากมายกับผู้ยากไร้

รัฐได้ป่า ประชาชนได้ที่ทำกิน โดยเงื่อนไขนี้ต้องบอกว่าดีกว่าไม่ได้อะไร เพราะต่อจากนั่นไปการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แหล่งน้ำ ไฟฟ้า ถนนหนทางก็ง่ายขึ้น

นี้คือสิ่งที่ประชาชนและองค์กรท้องถิ่นวาดหวัง แม้ว่าจะให้สิทธิ์แค่ทำกิน แต่ที่ดินก็ไม่ได้เป็นของประชาชน (แม้บางคน-ครอบครัวจะครอบครองทำกินมาหลายช่วงอายุคนก็ตาม) แถมยังการใช้ประโยชน์ก็ยังถูกกำกับอีกต่างหาก จนไร้อิสระภาพในการใช้ประโยชน์ตามข้อกำหนดของกฎหมาย

            อันที่จริง การใช้ประโยชน์ที่ดินภายใต้โครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ยากไร้ของคทช.นั้น แทนที่จะถามชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย 11.8 ล้านไร่ ที่ทำกินและอาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1,2 และ 3,4,5 ให้เห็นความต้องการที่แท้จริงของชุมชนก่อน

แต่กลับไปกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ไม่สร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนมาปลูกป่าเศรษฐกิจ และปลูกไม้ 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามมติคณะรัฐมนตรี 26 พ.ย.2561

ดังนั้น โดยเงื่อนไข คทช.ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น

1.กล่าวคือ พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 3,4,5 หลังมติครม.30 มิย.41 ซึ่งผ่านมา 20 กว่าปี มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมโหฬาร ต้องบอกว่าอย่างมโหฬาร หลายต่อหลายพื้นที่กลายเป็นหมู่บ้านหรือชุมชนขนานใหญ่ หลายชุมชนกลายเป็นชุมชนเมือง ส่วนพื้นที่ทำกินก็กลายเป็นผืนนาและสวนไปแล้ว จะให้ชาวบ้านมาปลูกป่าเพื่อเศรษฐกิจมากถึง 50% ของพื้นที่ฯคงยาก

            ยิ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ 1,2 ก่อนมติครม 30 มิย.41 ซึ่งถูกใช้ประโยชน์แทบไม่ต่างจากพื้นที่ลุ่มน้ำ 3,4,5 ข้างต้น เมื่อกรมป่าไม้นำมาจัดทำเป็นพื้นที่ฟื้นฟูสภาพป่า ให้ชาวบ้านปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ก็ยากยิ่งขึ้นไปใหญ่ เพราะนั้นหมายถึง การยึดคืนพื้นที่แบบเนียนๆนี้เอง

2.ชาวบ้านเลือกไม้ปลูกเองไม่ได้ กรมป่าไม้เป็นผู้จัดซื้อจัดหามาให้ ซึ่งก็คือ ไม้มีค่า 58 ชนิดตามกรมป่าไม้กำหนด

คำถามคือ ทำไมไม่ให้ชาวบ้านได้เลือกเอง แล้วกรมป่าไม้ก็จัดหามาให้จะได้ตรงตามความต้องการของชาวบ้านแต่ละถิ่นแต่ละที่แตกต่างกันไป

เพราะไม้มีค่า 58 ชนิด แต่ละภูมิภาคแต่ละจังหวัด แต่ละอำเภอถิ่นที่ ไม้มีค่า 58 ชนิดของกรมป่าไม้ ไม่ใช้ไม้มีค่าสำหรับเขา เช่น ตะเคียน ภาคเหนือเขาไม่ใช้กัน แต่กลับไปมีค่าทางภาคใต้ ไม้ตะแบก ภาคเหนือฟันทิ้งฟันขว้าง ภาคกลางนำมาใช้ประโยชน์ ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น แต่วิธีการของกรมป่า ดันไปตัดเสื้อโหลใส่ให้คนทั้งประเทศ แล้วจะสร้างแรงจูงใจได้อย่างไรกัน

ยิ่งไม่ส่งเสริมการแปรรูปและการตลาดให้กับชาวบ้านด้วยแล้ว เด๋วก็มีคำถามกลับมาอีกว่า ปลูกแล้วใครจะซื้อ ไปขายที่ไหน

ลองกลับมาคิดไหม่ ปรับปรุงเงื่อนไขคทช. แล้วหันมาสนับสนุนการแปรรูปและการตลาดให้ครบวงจรกับชาวบ้าน ชุมชนจะกลับมาเป็นฐานสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจรากหญ้า ชาวบ้านก็จะพากันปลูกไม้เศรษฐกิจและไม้มีค่า พื้นที่สีเขียวก็จะเกิดขึ้นได้ไว และขยายออกไปเรื่อยๆ

ไม่งั้นคงยาก...แค่ออกคทช.วันนี้ก็แสนลำบากยากเข็ญอยู่แล้ว


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สมเกียรติ มีธรรม ฯ ป่าไม้ ที่ดินทำกินและเศรษฐกิจชุมชน ความยั่งยืนของการจัดการไฟป่า

แม่แจ่ม จุดเปลี่ยนแห่งทศวรรษ

ข้อเสนอสีเขียว : แม่วากโมเดล รูปธรรมบูรณาการจัดการดินน้ำป่า สู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ภายใต้แม่แจ่มโมเดลและแม่แจ่มโมเดลพลัส