ออกไปจาก ฉีกหน้ากากไฟป่าภาคเหนือ 65
ชีวมวลสะสมในปริมาณที่มากทุกปีในพื้นที่ป่าหลายแห่ง
ขาดการบริหารจัดการชีวมวลในป่าที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
แนวคิด BURNING ZERO แบบสุดขั้ว
กฎหมายและระเบียบราชการเป็นอุปสรรคในการจัดการไฟป่า
นโยบายไม่เป็นระบบ
ขาดความต่อเนื่องตั้งแต่บนลงล่าง และขัดกันเอง
รวมศูนย์อำนาจจัดการไฟป่า
ความขัดแย้งทางตรงและเชิงโครงสร้าง
ประเด็นต่างๆที่ยกมาข้างต้น
คือปัญหาและสาเหตุที่เคยนำเสนอไว้แล้วในช่วงที่ผ่านมา มีด้วยกันทั้งหมด 7 ตอน
ครอบคลุมตั้งแต่มายเซ็ต ปริมาณเชิงเพลิงในป่า การบริหารจัดการ ไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง
โดยหาอ่านย้อนหลังได้ในเพจนี้
เมื่อพูดถึงทางออกก็ต้องบอกว่า ภาคประชาชนกับภาคประชาสังคมและชุมชน
ก้าวหน้าก้าวไกลไปมากกว่าราชการรวมศูนย์มากแล้ว ข้อเรียกร้องต่างๆในเชิงนโยบายโดยภาคประชาชนต่อรัฐบาลที่ผานมาก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง
กฎหมายอากาศสะอาดก็ไม่ขยับไปไหน กระจายอำนาจถ่ายโอนภารกิจจัดการไฟป่า ต้องบอกว่าครึ่งผีครึ่งคน
คือโอนงบประมาณ(ปี66)แต่ไม่โอนคนหรือเพิ่มคนให้ท้องถิ่น จะถ่ายโอนภารกิจและอำนาจจัดการป่าไม้และไฟป่า
ก็ต้องประเมินศักยภาพท้องถิ่นก่อนคอยว่ากัน
วันนี้ถ้าดูตามแผนการถ่ายโอนอำนาจ
ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าต้องให้แล้วเสร็จในปีพ.ศ.2553 ผ่านมาแล้ว 10 ปี ภารกิจถ่ายโอนอำนาจก็ยังเป็นเสือกระดาษมาถึงทุกวันนี้
ทั้ง ๆ ที่นี้คือความหวังในการแก้ไขปัญหาต่างๆเชิงพื้นที่ แต่มหาดไทยกลับไม่ยอมปล่อยให้ออกจากอุ้งตีนหมีไปง่ายๆ
หรือกลัวว่าจะนั่งตบยุงไปวันๆ คุ้มไม่ได้และงบประมาณจะหดหายกันแน่
ถ้าสรุปประเด็นปัญหาและสาเหตุข้างต้น เหลืออยู่ประเด็นเดียวคือเรื่องบริหารจัดการไฟป่า
ส่วนประเด็นอื่นๆก็เพียงหยิบยกมาใช้ในการบริหารจัดการให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น
หรือเรียกกันอีกอย่างว่ายกแม่น้ำทั้งห้ามาใช้ให้หมด
การบริหารจัดการไฟป่า วันนี้ต้องบอกว่าไม่ใช้เรื่องกระจอกงอกง่อยอีกต่อไป
เพราะการบริหารจัดการไฟป่าไม่ได้มีขอบเขตแคบๆ เฉพาะการทำแนวกันไฟและชิงเผาอย่างที่เข้าใจกัน
และทำๆกันทุกปีอย่างในเวลานี้ แต่มันหมายรวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลและองค์ความรู้
กลไกล(คน-กลุ่ม-ชุมชน) บริหารงบประมาณ การมีแผนงานที่ดี มีอำนาจในการจัดการ รวมเอาสิ่งเหล่านี้เข้าหากันอย่างลงตัวและเป็นองค์รวม
เช่นเดียวกับการบริหารบริษัทและองค์กรต่างๆ ซึ่งต่อไปจะใช้คำว่า “การบริหารจัดการไฟป่าทั้งกระบวนระบบ”
การบริหารจัดการไฟป่าทั้งกระบวนระบบ จะสำเร็จหรือล้มเหลวก็อยู่ตรงนี้
อยู่ที่การประสานปัจจัยต่างๆเหล่านี้ให้เป็นองคาพยพเดียวกัน ในการขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนและชุมชน ในฐานะกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้กิจกรรมต่างๆเดินต่อไปได้
ต้องอาศัยศิลปะในการบริหารคนและชุมชนด้วยเช่นกัน
ถ้ากลไกนี้ไม่ทำงานหรือทำงานที่ปราศจากหัวใจ ก็หวังได้เลยว่างานจะออกมาดีมีประสิทธิภาพและคุณภาพตามที่วาดหวัง
1.ต้องใช้ข้อมูลและองค์ความรู้บริหารจัดการไฟป่าทั้งกระบวนระบบ
ไล่มาตั้งแต่ช่วงเตรียมการ รับมือ และฟื้นฟู ไม่ใช้ไฟลนก้นแล้วค่อยมาทำกัน ระดมคนระดมทรัพยากรต่างๆเข้าไปช่วยดับไฟป่าให้ผ่านๆไปในทำนองสักแต่ทำให้เสร็จ
โดยไม่ใช้ข้อมูลและองค์ความรู้มาบริหารจัดการให้สำเร็จ หรือใช้ก็ใช้กันเพียงเล็กน้อยเฉพาะเทคนิควิธีการดับไฟป่า
ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการทั้งกระบวนระบบ จึงทำให้อาสาสมัครและชาวบ้านจำนวนไม่น้อยประสบกับการบาดเจ็บ
สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากมาย
ในการใช้ข้อมูลและองค์ความรู้ในการบริหารจัดการไฟป่าทั้งกระบวนระบบนั้น
แบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกันคือ
1.2 ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่จำเป็นต้องรู้
ได้แก่ข้อมูลพื้นฐานทั่วไปที่คนในพื้นที่รับรู้กันอยู่แล้ว
ถ้าไม่ใช้คนในพื้นที่ก็จำเป็นที่ต้องรู้ข้อมูลเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แม้รู้ไม่มาก
อย่างน้อยๆก็ไม่สร้างภาระให้กับทีมงานในยามเผชิญเหตุ อาทิเช่น ถนนหนทาง
เส้นทางคนเดินในป่า ลักษณะทางภูมิศาสตร์ อาทิเช่น ความสูงชัน สภาพป่า ประเภทป่า
ห้วยหนองคลองบึงต่างๆ เรือกสวนไร่นา ประชากรในหมู่บ้าน อาชีพ รายได้ พื้นที่ทำกิน
และที่อยู่อาศัย ข้อมูลลักษณะนี้ต้องบอกว่าคนในพื้นที่รู้ดีที่สุด
จึงจำต้องให้คนในพื้นที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการนำ
1.2 ข้อมูลสถิติต่างๆและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง
อาทิเช่น ข้อมูลสถิติการเกิดจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ย้อนหลัง ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน
ตำบล และอำเภอ องค์ความรู้เรื่องไฟป่า เช่น ไฟจำเป็นไฟไม่จำเป็น ไฟบนดินใต้ดิน วิธีการผจญกับไฟป่า
การใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ การปฐมพยาบาลพื้นฐาน สภาพภูมิอากาศแต่ละช่วงเวลาและแบบเรียลไทม์
แม้กระทั่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องจัดการไฟป่า
ล้วนเป็นข้อมูลและองค์ความรู้ที่ช่วยให้บริหารจัดการได้ดีและมีประสิทธิภาพแทบทั้งสิ้น
2. ต้องมีกลไก (คน-กลุ่ม-ชุมชน)
เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย เมื่อกลไกคือ
หัวใจ
ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยกระดับศักยภาพให้สูงขึ้นให้ทัดเทียมกับความซับซ้อนของปัญหาที่เกิดขึ้น
ซึ่งนั้นก็หมายถึง การพัฒนาศักยภาพคน กลุ่ม และชุมชนไปพร้อมๆกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ
ทำเรื่องอะไรต้องรู้เรื่องนั้น อย่างน้อยๆต้องห้าสิบหกสิบเปอร์เซ็นต์ขึ้นไปถึงจะปฏิบัติงานได้ดีมีประสิทธิภาพและคุณภาพ
กลไกนี้แบ่งออกเป็น 3 ระดับด้วยกันคือ
2.1 กลไกระดับชุมชน เป็นหัวใจสำคัญหรือเป็นไข่แดงในการดำเนินงานในพื้นที่
ความสำเร็จหรือล่ม
เหลวก็อยู่ที่กลไกนี้เป็นตัวชี้ขาด
เนื่องจากเป็นทัพหน้าในการป้องกันและเผชิญเหตุในพื้นที่ ถ้าไม่มีกลไกนี้
พึ่งแต่กลไกระดับตำบล อำเภอ หรือกลไกจากภายนอกเข้ามาดำเนินการ ก็อย่าหวังว่าจะทำอะไรได้
ดังนั้น ถ้าจะให้กลไกชุมชนมีพลังในการขับเคลื่อนในพื้นที่
ต้องมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในรูปแบบคณะกรรมการ หรือชุดปฏิบัติดับไฟป่าหมู่บ้านก็ย่อมได้
มีประกันชีวิตและอุบัติเหตุ มีสวัสดิการอื่นๆที่เติมเต็มขวัญกำลังใจการทำงาน รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นดับไฟป่า
เนื่องจากที่ผ่านมา
ทัพหน้าประสบอุบัติบาดเจ็บและตายจำนวนมาก ภาครัฐทำได้เพียงมอบเงินช่วยเหลือเล็กๆน้อย
พร้อมกับป้อนคำหวานๆในช่วงโศกเศร้าเสียใจและในช่วงเป็นข่าวผ่านสื่อต่างๆ
จากนั้นก็หายไป จิตอาสาดับไฟป่าที่บาดเจ็บและเสียชีวิตที่ผ่านมากี่คนต่อกี่คน ไม่เคยได้รับการเหลียวแลตามระเบียบกฎหมายจากภาครัฐแม้สักคนเดียว
เด็กหลายคนฐานะยากจนกำพร้าพ่อกำพร้าแม่ที่เสียชีวิตไปจากการดับไฟป่า ก็ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแลช่วยเหลือต่อเนื่องกระทั่งทุกวันนี้
ทำให้พลังขับเคลื่อนในพื้นที่แผ่วเบาลงไปมาก พร้อมๆกับที่ภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับทัพหน้าในสนามจริงน้อยตามลงไป
โดยหันมาใช้คนในสังกัดปกครอง ท้องที่ ท้องถิ่น กรมป่าไม้ กรมอุทยาน และทหารเป็นหลัก
จึงยากจะแก้ไขได้ถ้าไม่มีกลไกชุมชนเป็นทัพหน้า
2.2
กลไกระดับตำบล เป็นกลไกที่เข้ามาหนุนเสริมภารกิจระดับชุมชน/หมู่บ้าน
เป็นหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา
นับตั้งแต่ช่วงเตรียมการ เช่น นำจัดทำแผนจัดการไฟป่าร่วมกับชุมชน จัดทำแผนพัฒนาป่าชุมชนร่วมกับคณะกรรมการป่าชุมชน
สนับสนุนงบประมาณ และรณรงค์ประชาสัมพันธ์
สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการจัดการไฟป่า แต่ถ้าในช่วงเผชิญเหตุหรือช่วงห้ามเผา
บทบาทดังกล่าวบางด้านก็จะเบาบางลงไป เพิ่มบทบาทใหม่เข้ามาในส่วนของงานลาดตระเวรไฟป่า
เนื่องจากว่ามีเจ้าหน้าที่ประจำ แม้มีกำลังคนน้อยแต่ก็สามารถเดินทางไกลไปตามพื้นที่ต่างๆในเขตรับผิดชอบได้สะดวกทั้งวัน
เจอไฟไหม้ป่าที่ไหนก็แจ้งชุมชนหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง หรือจะส่งผ่านมายังกลไกอำเภอก็ย่อมได้
เมื่อฤดูกาลไฟป่าผ่านพ้นไป กลไกตำบลก็ยังคงเดินต่อได้ในช่วงสร้างความยั่งยืน
ด้านการป้องกัน การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนดให้
ไม่ว่าจะเป็นการบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ และปลูกป่าก็ว่ากันไป
แล้วแต่สติปัญญาและวิสัยทัศน์ผู้บริหารและฝ่ายประจำ ส่วนมาตรการป้องกันแทบจะไม่เห็นกลไกท้องถิ่นดำเนินการใดๆ
เว้นไว้แต่ในบางท้องถิ่นที่ก้าวหน้า กล้าออกมาทำข้อมูลแนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง
ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับการออกโฉนดดินให้กับชาวบ้านของสำนักงานที่ดิน เพื่อป้องกันการขยายพื้นที่ทำกินในเขตป่าสงวนและอุทยาน
แต่ไม่มีอำนาจในการอนุมัติอนุญาตให้เอกสารสิทธิแก่ผู้ใด
เนื่องจากอำนาจไปอยู่ที่กรมป่าไม้ กรมอุทยาน และกรมที่ดิน เป็นหลัก
แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสร้างอาคารสำนักงานตนเอง ทำถนนหนทาง ไฟฟ้า พัฒนาแหล่งน้ำชุมชน
ส่งเสริมอาชีพรายได้ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในตำบล ก็ต้องไปขอกับกรมป่าไม้กรมอุทยานเป็นหลัก
หรือกล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็คือ ให้บทบาทหน้าที่ในการป้องกัน
อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรดินน้ำป่า แต่ทว่าไม่ให้งบประมาณ ไม่ให้ใช้ประโยชน์
ถ้าใช้ก็ต้องขอนุญาติตามกฎหมายและระเบียบกรมป่าไม้หรือกรมอุทยาน โดยมีอธิบดีเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติอนุญาตแต่เพียงผู้เดียว
เรียกว่าชุมชนและองค์กรที่อยู่ดูแลรักษากลับไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้
โดยนัยนี้จึงต้องเร่งรัดภารกิจถ่ายโอนอำนาจ ถ่ายโอนงบประมาณ ถ่ายโอนคนหรือเพิ่มคน ให้กับกลไกท้องถิ่นเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรดินน้ำป่า
ชุมชนและองค์กรที่ดูแลรักษาก็จะมีพลังในการทำงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในเชิงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว
2.3 กลไกอำเภอ เป็นกลไกในการอำนวยความสะดวก
กำกับ ติดตาม และประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เข้ามาหนุนเสริมกลไกระดับตำบลและหมู่บ้านให้เข้มแข็ง
ไม่ใช้ไปล่วงกระเป๋ากองทุนต่างๆในหมู่บ้านและองค์กรปกครองท้องถิ่นมาไว้ที่ตนเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายแห่ง
ความร่วมไม้ร่วมมือหรือการมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ก็อยู่ที่กลไกนี้
ถ้ามีภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐในและนอกพื้นที่ สถาบันการศึกษา
ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สื่อมวลชน รัฐวิสาหกิจ และท้องถิ่นท้องที่เข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายและใช้ศักยภาพเท่าที่จะอำนวยได้
ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาลุล่วงไปด้วยดี จะใช้วิธีทำMOUร่วมกัน หรือจะจัดตั้งเป็นคณะกรรมการและหรือคณะทำงานระดับอำเภอก็ย่อมได้
ใช้อัศวินโต๊ะกลมทำงาน ไม่จำเป็นต้องมีพระเอกคอยสั่งการแต่เพียงผู้เดียวก็สร้างการมีส่วนร่วมและจัดการร่วมกันได้
3. ต้องมีงบประมาณเพียงพอและบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมาต้องย่อมรับว่า
งบประมาณเป็นปัญหาหนึ่งที่พูดถึงกันมากในการทำงาน เป็นเหมือนรถยนต์ที่ต้องหล่อเลี้ยงด้วยน้ำมันจึงจะวิ่งได้
งบมากน้ำมันมากก็วิ่งต่อเนื่องได้ไกล งบน้อยน้ำมันน้อยก็วิ่งได้ไม่ถึงไหน ถ้าไม่มีงบประมาณเสียเลยก็คงทำกันไม่ได้และประเทศนี้คงไม่ขยับไปไหนกันแน่
แต่นั้นก็ใช้ว่าจะกะรันตีความสำเร็จได้ บางทีงบน้อยงานทั้งเสร็จและสำเร็จก็มี งบมาก
งานเสร็จแต่ไม่สำเร็จก็มีถมไป
ปัญหาการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆในประเทศไทย
ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังแก้กันไม่ตกสักที และเป็นปัญหาเชิงนโยบายที่รัฐบาลไทยเป็นมาตลอดทุกยุคสมัย
ยิ่งกฎหมายฉบับใดไปเกี่ยวข้องกับการเงินการคลังด้วยแล้ว แม้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากเท่าไหร่
ก็ถูกตีตกไปตั้งแต่ในยกแรกแล้ว
ในทางกลับกัน ถ้ารัฐบาลต้องการทำอะไร ใช้งบหมื่นล้านแสนล้านก็หามาได้โดยไม่ฟังเสียงประชาชน
ประเทศไทยจึงวนอยู่แบบนี้มานานไม่มีทางเดินหน้าไปไหน
มิใยต้องเอ่ยถึงงบประมาณกระทรวงต่างๆที่ถูกหั่นกันเป็นว่าเล่นในแต่ละปี ขณะที่บางกระทรวงดูแล้วยังไม่จำเป็นเท่าไหร่ในเวลานี้
แต่กลับเทงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ด้วยเหตุดังนั้น เราจึงพูดกันไม่ออก หากเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องบอกว่างบน้อย-คนน้อยทำได้แค่นี้
แต่ถ้ามีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น บางกรณีงบงานไม่รู้เดินทางมาจากไหน
ขี้ช้างจับตั๊กกระแตนกันไปก็ไม่หวั่น บูรณาการกันมาได้หมดตั้งแต่รัฐบาลลงมาจนถึงกระทรวงและกรมกองต่างๆ
ขณะที่ปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือบน มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจมากมายในทุกๆปี นอกจากไม่เคยมีประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติแล้ว
งบประมาณแต่ละปีสำหรับทำกิจกรรมแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า
เมื่อนำมาจัดสรรให้กับตำบลต่างๆ ได้กันเพียงหลักหมื่นบาทต่อปี โดยไม่มีเหลือถึงชุมชนซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าแต่อย่างใด
ส่วนหน่วยงานป่าไม้แต่ละปี แม้มีงบประมาณไม่มาก
หากแต่ถูกใช้จ่ายไปกับค่าจ้างและอบรมเสียเป็นส่วนใหญ่
แทบจะไม่ก่อประโยชน์ใดๆเอาเลย เว้นแต่บางปีที่พอมีงบประมาณมาถึงชุมชน แต่กิจกรรมและผลงานที่ออกมา
ก็แทบจะไม่ตอบโจทย์ใดๆในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า
ที่กล่าวมาข้างต้น ต้องการชี้ให้เห็นปัญหาการจัดสรรงบประมาณ
และการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ถ้าว่ากันจริงๆ ก็เหมือนโยนก้อนหินลงมหาสมุทรโดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะผุดขึ้นมาสักที
เลี้ยงไข้กันไปเช่นนี้โดยไม่มีแผนการใช้งบประมาณกับกิจกรรมที่สร้างสรรค์ไปกว่าเดิม
นี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า
4. ต้องมีแผนงานจัดการไฟป่าที่ดี แผนงานจัดการไฟป่าที่ดี
มีน้อยมากที่ออกมาจากข้างบน โดยที่คนข้างล่างไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด ในการทำแผนงานจัดการไฟป่าที่ดีนั้น
ต้องออกมาจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน จากการระดมความเห็นระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ
เป็นหลัก จังหวัดเพียงทำหน้าที่จัดหมวดหมู่ เอาแผนงานบรรจุในแผนงบประมาณ เตรียมหนุนเสริมชุมชนและองค์กรต่างๆที่ทำงานในพื้นที่
หรือถ้ามีไอเดียดีๆอะไรก็เติมเต็มลงไปได้
หากแต่ที่ผ่านมาต้องบอกว่า ไม่มีหน่วยงานไหนลงมาคลุกคลีกับชาวบ้าน
ร่วมคิดร่วมทำแผน และร่วมรับผิดชอบอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่ก็นั่งมโนในห้องแอร์เป็นหลัก
จึงยากที่จะเห็นแผนงานจัดการไฟป่าที่สร้างสรรค์ มากกว่าการทำแนวกันไฟ การจัดอบรม หรือจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ดับไฟป่า
จนแทบจะพูดได้ว่าไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเลยก็ว่าได้ เพียงสักแต่ทำให้เสร็จเป็นปีๆไป
โดยไม่คิดให้ครอบคลุมทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
เป็นแผนงานที่ก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงทีขั้นอย่างชัดเจน มีการกำกับติดตาม ทำรายงาน
ประเมินผลในระดับพื้นที่ แล้วส่งต่อให้จังหวัดนำไปปรับปรุงจัดทำยุทธศาสตร์ แล้วส่งต่อไปให้กับรัฐบาลนำไปกำหนดเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าระดับประเทศ
จากประสบการณ์เล็กๆที่ผ่านมา
กรณีแม่แจ่มโมเดลแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าในปีพ.ศ.2559-60 ความสำเร็จเล็กๆในครั้งนั้น
รัฐบาลถึงกับนำไปเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการไฟป่า ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารไทยคู่ฟ้า
ส่งคนมาทำข่าวเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และออกมติคณะรัฐมนตรีให้จังหวัดต่างๆนำไปประยุกต์ใช้
แต่น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่ไม่ทราบรายละเอียดแผนบริหารจัดการหมอกควันไฟป่าทั้งระบบในเวลานั้นมากนัก
หากจะทบทวนย้อนหลังก็แทบไม่ต่างจากที่กล่าวมานี้
เพียงแต่มีรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้นที่แตกต่างกันไปเท่านั้น
5. ต้องมีอำนาจควบคู่กับภารกิจ คน และงบประมาณ ในการบริหารจัดการทั้งกระบวนระบบ
ไม่ใช้ให้ภาระกิจแต่ไม่มีอำนาจ
ไม่มีงบประมาณ และไม่มีคนขับเคลื่อนอย่างจริงจัง กระทั่งวันนี้ต้องบอกว่า ในระดับพื้นที่ไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่หลัก
จะกระจายอำนาจก็ไม่มีความชัดเจน เห็นทำกันมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 ตามแผนให้แล้วเสร็จในปีพ.ศ.2553
ผ่านมายาวนานถึง 10 ปี ภารกิจนี้ก็ยังไม่ก้าวหน้าไปไหน หรือจะรอให้กระจายอำนาจจังหวัดจัดการตนเองก่อนก็มิทราบได้
การกระจายอำนาจ ภารกิจ งบประมาณ และคน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละที่แต่ละแห่งแตกต่างกันไป
วันนี้โครงสร้างที่อุ้ยอ้ายกลายเป็นอุปสรรค์สำคัญในการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่
โดยเฉพาะกรณีเร่งด่วนด้วยแล้วไม่ทันการณ์เอาเลยก็ว่าได้ แม้ไม่เร่งด่วนก็ไม่สามารถพาองคาพยพเดินหน้าให้ก้าวไกลกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้
กรณีกลไกท้องถิ่นที่กล่าวมาข้างต้น เป็นตัวอย่างสำคัญที่ชี้ให้เห็นข้อจำกัดในการเข้ามาบริหารจัดการไฟป่าทั้งกระบวนระบบ
เมื่อใช้ประโยชน์ไม่ได้ ขออนุมัติอนุญาตก็แสนยาก ชุมชนและองค์กรที่ไหนจะออกมาช่วยป้องกัน
อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรที่อยู่ข้างบ้าน
ในวันนี้ถ้าไม่เร่งรัดกระจายอำนาจจัดการทรัพยากรป่าไม้ ก็ต้องกระจายอำนาจให้จังหวัดจัดการตนเอง อำนาจที่มาพร้อมภารกิจ คน และงบประมาณ จะได้บริหารกันเต็มที่ ภาษีที่เสียไปก็จะไม่สูญเปล่า การพัฒนาก็จะก้าวหน้าก้าวไกลมากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น