ฉีกหน้ากากไฟป่าภาคเหนือ 65
📌วันนี้อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งในการบริหารจัดการไฟป่าก็คือ แนวคิด ZERO BURNING แบบสุดขั้ว แนวคิดนี้ เป็นแนวคิดของชั้นชนกลางในเมืองบางกลุ่มและผู้บริหารจำนวนมาก แทบทุกระดับในกระทรวงทรัพย์ฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ไฟลดปริมาณชีวมวลในป่าทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากแนวคิดนี้มองว่า “ถ้ามีควันก็ต้องมีไฟ ถ้ามีไฟก็ต้องมีควัน” ดังนั้นถ้าไม่ให้เกิดหมอกควันอีก ก็ต้องไม่มีการเผาทุกรูปแบบ
เดิมทีแนวคิดนี้ปรากฏอยู่ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ห้ามมิให้ผู้ใดเผาป่าทุกรูปแบบ เพราะการเผาป่าเป็นการทำลาย ไม่ใช้การบำรุงดูแลรักษาป่า ซึ่งในหมู่ผู้รักษากฎหมายป่าไม้ส่วนใหญ่ก็มองไปในทิศทางเดียวกัน เราจึงเห็นคำสั่งและประกาศจังหวัด ออกมาในแนวเดียวกันทุกปี คือ ห้าม งดการเผา แล้วก็ห้าม งดการเผา
กระทั่ง 5 ปีที่ให้หลัง เป็นช่วงเวลาที่เกิดปัญหาหมอกควันไฟป่าสะสมในปริมาณที่มากในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จนทำให้ค่าเฉลี่ยฝุ่นควันสะสม หรือค่า PM10 และ PM2.5 อยู่ในระดับที่สูงติดต่อกันหลายวันเป็นประจำทุกปี บางปีเครื่องบินลงจอดได้ เศรษฐกิจเชียงใหม่และในภาคเหนือตอนบนซบเซาเสียหาย เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง
ชนชั้นกลางในเมืองบางกลุ่ม จึงเริ่มออกมาเรียกร้องสิทธิการมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ โดยเพ็งเล็งไปที่ชาวบ้านว่าเป็นต้นเหตุสำคัญในการก่อปัญหาหมอกควันไฟป่าจากการเผาไร่ เพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรในเขตป่าสงวนแห่งชาติรอบใหม่ไว้ปลูกพืชเชิงเดียวในฤดูฝน แม้ปัจจุบันจะมีข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมชี้ชัดว่า ไฟป่าเกิดจากการเผาในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอนุรักษ์เป็นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม แต่คนชั้นกลางในเมืองจำนวนไม่น้อยก็ยังยึดมั่น zero burning คือคำตอบอยู่ดี เหมารวมมาที่ชาวบ้านหรือภาคชนบทเป็นผู้ก่อปัญหา แม้ดูประหนึ่งว่าจะมีความเข้าใจมากขึ้นบ้างแล้วก็ตาม
ความขัดแย้งทางความคิด ระหว่างชนชั้นกลางในเมืองบางกลุ่ม ผู้บริหารกระทรวงทรัพย์ฯกับภาคประชาชนดังกล่าวมานี้ ได้ถูกโต้กลับจากทั่วทุกสารทิศที่อยู่กับป่ามาช้านานว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง แม้นักวิชาการอย่างอาจารย์สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) ก็ยังคงเห็นไฟเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่มีการค้นพบครั้งแรกแล้ว เพียงแต่ต้องบริหารจัดการที่ดี ไฟในวิถีชีวิตก็จะไม่สร้างภาวะวิกฤติให้แก่สังคมและธรรมชาติได้
ในการโต้กลับของภาคประชาชนที่ผ่านมา นอกจากนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ และจากเวทีประชุมสัมมนา เพื่อที่จะสื่อสารให้ชนชั้นกลางในเมืองบางกลุ่มและผู้บริหารกระทรวงทรัพย์ฯเข้าใจแล้ว ภาคประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ลดละที่จะบริหารจัดการไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง แม้มีเพียงไม่กี่คนในชุมชนที่มักก่อปัญหา แต่ก็ใช่ว่าชุมชนจะละเลยเรื่องนี้ไปได้ การทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่าและในไร่ การวางเวรยามเฝ้าระวังไฟป่า ร่วมกันดับไฟป่าในเขตหมู่บ้านของตนจนบาดเจ็บและเสียชีวิตก็มี ลดปริมาณชีวมวลในป่าด้วยการใช้ไฟรวมกับองค์กรต่างๆ ก็เคยทำกันมาแล้ว
ส่วนพื้นที่การเกษตรในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ก็พยายามที่จะลดละการเผาลงไปด้วยการไถ่กลบบ้าง ถางเศษวัสดุในไร่เพื่อลดเวลาการเผาไหม้ให้สั้นลง ทำแนวกันไฟไม่ให้รุกลามเข้าไปในเขตป่า ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชในไร่ ส่วนเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร นอกจากเอามาทำปุ๋ยหมัก ตักเก็บไว้ให้วัวกินในคอกแล้ว ที่เหลือก็อัดก้อนขายส่งให้ฟาร์มโคและใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงงานต่างๆ
ถึงกระนั้น แนวคิด ZERO BURNING แบบสุดขั้วของชนชั้นกลางในเมืองบางกลุ่มและผู้บริหารกระทรวงทรัพย์ฯก็ยังไม่เลือนหายไป แม้ดูประหนึ่งว่าจะเข้าใจมากขึ้นก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติกลับย่ำเท้าอยู่กับที่ มีอีเว้นท์แปลกๆตลกๆออกมาเลื่อยๆ เช่น เก็บใบไม้ทั้งป่ามาขาย ทำปุ๋ย หรือแปรรูปอื่นๆ ใช้โดรนบินขนใบไม้ในป่ามาอัดแท่ง อะไรเทือกนี้
ในปี 65 ก็เช่นกัน ถ้าผู้บริหารกระทรวงทรัพย์ฯและที่เกี่ยวข้องไม่เปลี่ยนพาราดามใหม่ ก็ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม พาราดามเปลี่ยน การบริหารจัดการจึงเปลี่ยน
ตอน 2 ไฟป่าสามระดับ
ในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง ไปทางไหนก็เห็นป่าหลากสีไล่ระดับงามตา ถ้าผ่านป่าเต็งรังบางแห่ง ก็จะเห็นใบไม้ร่วงราว 50% ขึ้นไป แล้วแต่สภาพพื้นดินในผืนป่าแห่งนั้นด้วย บางแห่งก็ปาเข้าไป 90% ก็มี มองไปทางไหนเห็นแต่ต้นไม้ไร้ใบโชว์กิ่งก้านสะพรั่ง ส่วนป่าเบญจพรรณแม้ยังดูเขียวมากกว่า แต่ใบไม้ก็ทยอยร่วงโรยไปตามกาลไม่น้อย ถ้าเดินผ่านป่าดิบแล้ง ก็ยังสัมผัสได้ถึงความชื้นที่สะสมในพงไพรอยู่บ้าง หากเป็นป่าดิบชื้น ก็สัมผัสได้ถึงความเย็นสบายค่อนออกไปทางหนาว
เหล่านี้เป็นวงจรตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปีของพฤกษานานาพันธุ์ เพื่อที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ถ้าหากขืนไม่สลัดใบทิ้งในฤดูแล้ง ก็คงห่อแห้งเหี่ยวเฉาตายกันไป ถึงขั้นสุญพันธุ์เลยก็ได้
การปรับตัวของพฤกษานานาพันธ์ในพงไพรดังกล่าวมานี้ ทำให้มีชีวมวลสะสมในปริมาณที่มากทุกปีในพื้นที่ป่าหลายแห่ง ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้าน เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ มีใบไม้ กิ่งไม้ ใบหญ้า และพืชอื่นๆ แห้งตายทับถมสะสมซ้อนกันเป็นชั้นๆ ทุกปี โดยไม่มีการบริหารจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อเกิดไฟลุกลามจึงรุนแรงจนยากที่จะดับได้ เพราะการสะสมของปริมาณชีวมวลที่ทับซ้อนกันหลายๆชั้น ทำให้เกิดการเผาไหม้ 3 ระดับคือ ไฟในดิน ไฟบนดิน และไฟเรือนยอด เช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วกับภูกระดึง จ.เลย ที่ขุนแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่ดอยสุเทพปุ๋ย และอื่นๆอีกหลายแห่ง ล้วนแล้วแต่รุนแรงและยากต่อการผจญเพลิงที่กำลังลุกไหม้
ไฟ 3 ระดับได้แก่
ไฟในดิน เป็นไฟที่คุกรุ่นอยู่ในดิน
ไหม้ไปอย่างช้าๆ ใช้เวลานาน ค่อยๆ ลามไปเรื่อยๆ
พอขึ้นมาผิวดินก็จะลุกไหม้ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นไฟบนดิน ไฟในลักษณะนี้
จะก่อปัญหาฝุ่นควันมากกว่าไฟบนดินและไฟเรือนยอด
ไฟบนดิน เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะลุกไหม้ไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของป่าและสภาพป่าในบริเวณนั้นๆ ถ้าสภาพป่าโล่ง
ต้นไม้ใบหญ้าไม่หนาทึบ ไฟก็จะไหม้ไปอย่างรวดเร็ว คล้ายๆกับสำนวนที่ว่า ไฟไหม้ฟาง
ฝุ่นควันไม่มากเท่าไหร่ แต่ในตรงกันข้าม ถ้าสภาพป่ามีต้นไม้ใบหญ้าหนาทึบ มีไม้เรือนยอดปกคลุมแน่นหนา
เมื่อเกิดไฟป่า ก็จะรุนแรง ลำไฟขึ้นสูง กระจายไปในวงกว้าง
ลุกลามขึ้นไปกลายเป็นไฟเรือนยอด
ไฟเรือนยอด
เป็นไฟที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากไฟบนดินในสภาพป่าที่มีต้นไม้ใบหญ้าหนาทึบ
ลุกลามขึ้นไปบนต้นไม้และยอดไม้ จากต้นหนึ่งไปสู่อีกต้นหนึ่ง ทำให้ไฟกระจายตัวไปอย่างรวดเร็วและกินพื้นที่กว้าง
ยิ่งมีลมแรงโบกมาในเวลาที่ประจวบเหมาะกันก็ยิ่งไปกันใหญ่ ดับก็ไม่ได้
ต้องปล่อยไปตามยถากรรม เช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายที่หลายแห่ง
โดยเฉพาะป่าดิบแล้งจะอันตรายมาก ถึงกับผลาญชีวิตเราได้
โดยไฟทั้ง 3 ระดับนี้ จะส่งทอดต่อกันและกันไป รุนแรงแค่ไหน
ขึ้นอยู่กับชนิดป่าและสภาพป่าในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป ไฟทั้ง 3 ระดับนี้ เมื่อเกิดแล้วดับยาก โดยเฉพาะไฟใต้ดินกับไฟเรือนยอด
หากไม่มีการจัดการชีวมวลในปีเป็นเวลาหลายปี เมื่อมีไฟเกิดขึ้นเมื่อไหร่
เอากันไม่อยู่เลยก็ว่าได้ ดังปรากฏให้เห็นเป็นข่าวในรอบปีที่ผ่านมา
ตอน 3 จัดการร่วม SPACE AND TIME
การจัดการชีวมวลที่สะสมในป่าแต่ละประเภท มีหลากหลายวิธีการแตกต่างกันไป จะเอามาทำเป็นปุ๋ย เชื้อเพลิงในโรงงาน หรือเอาใบไม้มาทำถ้วยชาม ฯลฯ ก็ว่ากันไป คงไม่สามารถเอามาใช้ประโยชน์ทั้งป่าได้ แต่ถ้าเลือกใช้วิธีลดปริมาณเชิงเพลิงในป่าด้วยไฟแล้วล่ะก็ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงก็คือ SPACE AND TIME
2.1 SPACE ก็คือ สภาพพื้นที่ สภาพป่า และประเภทของป่า ที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละที่แต่ละแห่ง
สภาพป่า ก็คือ สภาพของพื้นที่ป่าแต่ละประเภท มีใบไม้ กิ่งไม้ ใบหญ้าแห้งตายหนาทึบหรือไม่ มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นหรือไม่ และให้หมายร่วมถึงสภาพพื้นที่ด้วยว่ามีความลาดเอียงต่ำหรือสูงชัน ตั้งอยู่ทิศทางลมหรือบังลม
ประเภทของป่า ก็คือ
ป่าแพะ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ในจำนวนนี้
มีป่าบางชนิดที่ต้องเลี่ยงการลดปริมาณชีวมวลด้วยการใช้ไฟ
คือต้องปล่อยให้อยู่ในสภาพนั้นไปอย่าได้แตะต้องเด็ดขาด เช่น ป่าดิบชื้น
ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำให้เราได้ใช้ดื่มกิน ป่าบุ่งป่าทาม ป่าพรุ ป่าชุ่มน้ำ
อย่างนี้เป็นต้น
2.2 TIME ก็คือ กาลและเวลา ในที่นี้ได้แยกสองคำนี้ออกจากกัน แม้มีความหมายไม่ต่างกันนัก แต่ก็มีนัยยะสำคัญที่แตกต่างกันออกไปชัดเจน
กาล ในที่นี้หมายถึง เป็นครั้งเป็นคราวไป หรือเป็นหนๆ ไป คือถ้าไม่มีการจัดการชีวมวลเป็นครั้งเป็นคราวไปตามปริมาณการสะสมของชีวมวลในป่า ซึ่งอาจเป็นปีละครั้งหรือสองปีครั้ง ขึ้นอยู่กับการสะสมของปริมาณชีวมวล
เวลา อันนี้ไม่ต้องอธิบาย
คือเวลาโมงยามตามที่เข้าใจกันนี้แหละ
ในการลดปริมาณเชื้อเพลิงเป็นครั้งเป็นคราวหรือเป็นหนๆไปนั้น
ต้องเลือกเวลาที่เหมาะสม (ไม่ใช้เลือกเวลาเพื่อหลบดาวเทียมตรวจจับความร้อน)
และต้องเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีกระแสลมแรงจนเกินไป
ต้องให้พอเหมาะพอดีที่ไม่ทำให้ไฟกระจายตัวไปในวงกว้าง ถ้าจัดการแบบนี้ได้
ก็จะช่วยลดความรุนแรงของไฟ ลดการสูญเสียป่าและชีวิตทรัพย์สินลงได้มาก
การลดปริมาณชีวมวลในป่าที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเอาเข้าจริงๆแล้ว การลดปริมาณชีวมวลโดยชุมชนทำได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมาก ไม่ว่าจะเป็นแปลงเล็กหรือแปลงใหญ่ เนื่องจากมีกำลังคนจากชุมชนไปช่วยจำนวนมาก ทำแนวกันไฟ เฝ้าระวังอยู่ตามจุดต่างๆ ไม่ให้ไฟขยายออกไปจากพื้นที่ที่กำหนดไว้
ขณะที่การลดปริมาณชีวมวลในป่าโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องคำนึงถึงเป้าหมายที่จังหวัดกำหนดไว้ ข้อจำกัดด้านกำลังคน สภาพภูมิประเทศที่สูงชัน และขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน การลดปริมาณเชิงเพลิงในป่าจึงควบคุมได้ยาก พูดง่ายๆว่า ส่วนใหญ่จุดไฟแล้วปล่อยเลย ไฟจึงลุกลามข้ามม่อนข้ามดอยเป็นบริเวณกว้าง จะปีนเขาตามดับก็ไม่ได้ ต้องเลยตามเลย ขอเพียงจับพิกัด ถ่ายภาพ รายงานการลดปริมาณเชื้อเพลิงในป่าให้เจ้านายได้ก็รอดกันไปอีกปี วนเวียนอยู่เช่นนี้ตลอด
ในตรงกันข้าม หากคำนึงถึง SPACE AND TIME และมีการจัดร่วมได้ เราคงหายใจโล่งกันบ้างไม่มากก็น้อย
ตอน 4 ระเบียบกฎหมายล้าหลังไม่เอื้อจัดการไฟป่า
กฎหมายบ้านเราโดยทั่วไปมีทั้งส่วนที่ห้ามปรามลงโทษ และส่วนที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและส่งเสริมการทำความดี ในส่วนที่ห้ามปรามลงโทษเฉพาะเกี่ยวข้องกับป่าไม้ ปรากฏชัดเจนอยู่ในพรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 14 พรบ.ป่าไม้ พ.ศ.2484//2504/2507 และพ.ศ.2535 มาตรา 54 มาตรา 16 มาตรา 14 มาตรา 37 และ 42 ตามลำดับ หากผู้ใดฝ่าฝืนไปก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำลายป่า ยึดถือครอบครอง ทำอันตรายต่อทรัพยากรธรรมชาติ จนทำให้เสื่อมสภาพและเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า มีโทษปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
คำว่า
“ห้ามมิให้ผู้ใด..”ที่ปรากฏในกฎหมายเหล่านี้ มิได้หมายถึงเฉพาะประชาชนเท่านั้น
แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง ถ้าไม่ได้รับอนุญาตก็ผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน
จึงทำให้การลดปริมาณชีวมวลโดยวีธีการใช้ไฟในป่าไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าจะลดปริมาณชีวมวลตามหลักวิชาการด้วยการใช้ไฟในป่าให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ก็ต้องขอนุญาตตามหลักเกณฑ์ฯก่อน ซึ่งนั่นก็คือ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย
การควบคุม ดูแล รักษาหรือบำรุงป่าสงวนแห่งชาติ
อธิบดีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้
กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้
คำถามก็คือว่า การลดปริมาณชีวมวลด้วยการใช้ไฟในป่าเข้าหลักเกณฑ์ตัวไหน
เป็นการควบคุม ดูแล รักษาหรือบำรุงป่าตามกฎหมายหรือไม่
ซึ่งในเรื่องนี้ต้องยอมรับว่ากฎหมายไทยล้าหลัง ยังเห็นว่าการลดปริมาณชีวมวลตามหลักวิชาการด้วยการใช้ไฟในพื้นที่ป่าเป็นการทำลาย
ไม่ใช้เป็นการควบคุม ดูแล รักษาหรือบำรุงป่า
คิดหรือว่าจะได้รับการอนุญาตจากอธิบดี นี้ยังไม่รวมถึงกระบวนขั้นตอนต่างๆ
ก่อนถึงอธิบดีกรมป่าไม้จะใช้เวลาเดินทางเท่าไหร่ ในทางกลับกัน ถ้าอธิบดีอนุญาตการลดปริมาณชีวมวลตามหลักวิชาการด้วยการใช้ไฟในพื้นที่ป่า
ก็จะถูกมองจากสังคมโดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองที่มีแนวคิด ZERO BURNING สุดขั้วว่า อธิบดีอนุญาตให้เผาป่าได้ ดีไม่ดีก็อาจถูกฟ้องร้องอีก
ด้วยเหตุดังนี้
ปริมาณชีวมวลที่สะสมในป่าจึงไม่ได้ถูกจัดการตามหลักวิชาการ
เมื่อเกิดไฟป่าขึ้นจึงรุนแรงและสร้างความเสียหายทั้งชีวิตทรัพย์สินอย่างมากจนยากจะหยุดหยั่งได้
แต่ที่ทำๆกันไปในแต่ละพื้นที่ ก็ต้องยอมรับว่าหลับตากันไปข้างหนึ่ง ถึงกระนั่น
ก็ใช่ว่าจะไม่มีการลดปริมาณชีวมวลในพื้นที่ป่าด้วยการใช้ไฟ ในหมู่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ก็ยังหลบๆซ่อนทำกันเป็นประจำทุกปี
และนี้ก็คือสาเหตุหนึ่งซึ่งถูกมองว่าเจ้าหน้าที่เผาป่าเสียเอง
หนักเข้าก็ถูกมองว่าเผาเอางบก็มี ในตรงข้าม
ถ้าปรับปรุงกฎหมายให้ลดปริมาณชีวมวลด้วยการใช้ไฟในป่าตามหลักวิชาการได้
ปรับปรุงระเบียบให้กระฉับไม่ยุ่งยากยืดยาว ชุมชนและองค์กรต่างๆ
ที่ร่วมกันบริหารจัดการไฟป่าเข้าถึงได้ง่าย ปัญหาไฟป่าก็จะเบาบางลงได้
ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นปีที่ผ่านมา
ที่ซ้ำรายกว่านั้น
ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการช่วยเหลือราชการ
กลับไม่ได้รับการชดเชยจากรัฐบาลอย่างที่ควรจะเป็น หรืออย่างน้อย ก็เพื่อมนุษยธรรรมตามกฎหมายกำหนด
(พรบ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยฯ) หรือจากกองทุนประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี
รวมไปถึงการอุดหนุนผู้ประสบภัยของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อสร้างขวัญกำลังให้กับคนทำดีเสียสละเพื่อส่วนร่วม
กรณีกราดยิงที่โคราช รัฐบาลยังจ่ายค่าชดเชยให้ได้ในเวลาอันสั้นโดยไม่ติดขัดระเบียบกฎหมาย
แต่ในการชดเชยให้กับจิตอาสาบาดเจ็บและสียชีวิตดูว่าจะติดขัดไปหมด เช่น
ต้องมีประกาศ หรือคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ มีโน้นมีนี้สารพัด พอได้เอกสารครบ
บางทีก็ไปจบที่อำเภอ บางทีก็ไปจบที่จังหวัด และถ้าหากไม่มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง
จะสร้างการมีส่วนรวมอย่างไรในการดับไฟป่าก็จะไม่มีความหมาย ไร้พลังในการแก้ไขปัญหา
ตอน 5. นโยบายไม่เป็นระบบ ขาดความต่อเนื่องตั้งแต่บนลงล่าง และขัดกันเอง
นับตั้งแต่เริ่มมีปัญหาไฟป่าเมื่อปีพ.ศ.2533 เป็นต้นมา นโยบายการแก้ปัญหาไฟป่าไม่มีความชัดเจนและต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงไปตามรัฐบาลแต่ละยุคสมัย พอแบ่งออกได้ตามช่วงเวลาดังนี้
ระหว่างปีพ.ศ.2533-2540 นโยบายรัฐบาลมุ่งเน้นไปกำชับ กวดขัน ดูแลเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสภาพป่า
มาในปีพ.ศ.2541-2545 รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับไฟป่ามากขึ้น มีมติครม.เห็นชอบหลักการให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับปัญหาไฟป่า โดยกำหนดเป็นนโยบายในหน่วยงานสังกัด ช่วยป้องกันและดับไฟป่าที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
พอปีพ.ศ.2546-49 รัฐบาลเริ่มจัดทำร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปจัดทำแผนปฏิบัติการ พร้อมกับเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาหมอกควันข้ามแดนตามมา
แต่ทว่าแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาไฟป่าปีพ.ศ.2547 ที่คณะรัฐมนตรีทำได้แต่เพียงรับทราบกลับไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ พอเกิดไฟป่ารุนแรงพุ่งสูงขึ้นเป็น 3 เท่าตัวของปี 2546 คณะรัฐมนตรีกลับมีมติ 23 มีนาคม 2547 เห็นชอบใช้มาตรการปราบปรามผู้กระทำผิดเป็นหลัก โดยให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สนับสนุนภารกิจดังกล่าว
พอเข้าปี พ.ศ.2548 รัฐบาลกลับมานับหนึ่งใหม่ ทิ้งแผนเดิมที่วางไว้ในปี พ.ศ.2547 กำหนดแนวทางแก้ปัญหาไฟป่าใหม่โดยให้บูรณาการกระทรวงต่างๆ ดังนี้
ให้กระทรวงมหาดไทย บูรณาการกำลังพลและทรัพยากรของทุกภาคส่วนมาช่วยดับไฟป่า โดยออกประกาศจังหวัดกำหนดเขตควบคุมไฟป่า และกำหนดระเบียบ ตลอดจนมาตรการควบคุมไฟป่าในพื้นที่เขตควบคุมไฟป่า และกำกับดูแลให้มีการดำเนินการไปตามมาตรการที่กำหนด มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการไฟป่าระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อในทุกระดับได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่า ร่วมทั้งจัดทำแผนระดมพลดับไฟป่าในสถานการณ์รุนแรงและวิกฤติอีกด้วย
ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้ประโยชน์จากเศษสิ่งเหลือทางการเกษตรแทนการเผา เช่น การนำไปทำปุ๋ยหมัก ทำแท่งเชื้อเพลิง หรือทำสิ่งประดิษฐ์ และเร่งดำเนินการจัดทำฝนหลวงในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า
ให้กระทรวงคมนาคม ให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท กำหนดมาตรการป้องกันการเกิดไฟป่าจากเส้นทางกลางทุกสาย
ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังการใช้ไฟในพื้นที่ป่าไม้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไฟป่า เช่น ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ในป่า ไม่ก่อกองไฟในป่า
ให้กระทรวงกลาโหม สนับสนุนกำลังพลและอากาศยานในการดับไฟป่าเมื่อได้รับการร้องขอ
และให้กระทรวงศึกษาธิการ สอดแทรกความรู้เรื่องการป้องกันไฟป่าลงในหลักสูตรการเรียนการสอน ทุกระดับของกระทรวงและประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนนักศึกษาทุกระดับการศึกษาป้องกัน รณรงค์ป้องกันในไฟป่า
แต่ทว่าแนวทางดังกล่าวกลับไม่ได้ผล
คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2548
เห็นชอบให้เชิญหน่วยงานและผู้ที่มีหน้าที่ปราบปรามการเผาทำลายป่า
รวมทั้งประชาชนในเขตพื้นที่ที่มีการเผามาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯรับไปดำเนินการเร่งด่วน
โดยประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
หลังวิกฤติไฟป่าปีพ.ศ.2548 ผ่านพ้นไป
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง
โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้านคือ ด้านการป้องกัน ด้านการตรวจติดตาม ด้านปฏิบัติการดับไฟป่า และด้านการฟื้นฟูสภาพหลังเกิดไฟป่า โดยมีเป้าหมายเพื่อลดพื้นที่ไฟไหม้ป่า
จัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรทดแทนการเผา
นำเอาเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรมาใช้เป็นพลังงานชีวมวลทดแทนการใช้พลังงานในเชิงพาณิชย์
และลดการเผาขยะมูลฝอยในที่โล่งลงไป
แต่ทว่าแผนดังกล่าวกลับเป็นแพนนิ่งอีกครั้ง ทั้งยังได้โอนภารกิจไฟป่ามาให้คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ(กปภ.ช.)ดูแล และเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านอัคคีภัยแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควันออกไป จากปีพ.ศ.2549-2559 เป็น พ.ศ.2549-2562
ซึ่งนั่นหมายความว่า ตั้งแต่ปีพ.ศ.2549-2562 เรายังใช้แผนเดิมในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่ามาถึงทุกวันนี้ เมื่อใกล้ฤดูไฟป่าก็นำมาเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้วก็เสนอรัฐมนตรีรับทราบเป็นปีๆ ไป เพื่อขอใช้งบประมาณเป็นหลัก จะมีรายละเอียดบางเล็กน้อยที่เพิ่มเข้ามาในแต่ละปี เช่น การปลูกป่า การสร้างความชุ่มชื้น และการสร้างแนวป้องกันไฟ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถขยับได้ ขณะที่ปัญหาและสาเหตุของไฟป่า ถูกพัฒนาและเชื่อมโ่ยงกันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่แผนเดิมยากจะรับมือได้ ในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นซึ่งเป็นภาคปฏิบัติ ก็ขยับตามกรอบงานและงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นงบจากรัฐบาลกลางหรืองบจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
ที่หนักเข้าไปอีกก็คือ การมอบภารกิจดับไฟป่าให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับไปดำเนินการ ก็เพิ่งมามอบงบประมาณตามไปปลายปี64 แต่ติดระเบียบราชการ จำต้องโดดไปเบิกจ่ายคลังได้ในปี 2566 ส่วนปี 65 ก็ว่ากันไปก่อนก็แล้วกัน
นี้คือความย้อนแย้งเชิงนโยบายและกลไกการปฏิบัติงานของภาครัฐ ซึ่งยังแก้กันไม่ตกมากระทั่งทุกวันนี้ ตัวอย่างนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือปี 2563 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2562 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนวยการสั่งการ (Single command) ติดตามสถานการณ์และบูรณาการสั่งการป้องกันและควบคุมการเผาในจังหวัดอย่างเคร่งครัด จัดระเบียบการเผาอย่างเป็นระบบ สนับสนุนการลาดตระเวนและดับไฟ กวดขันไม่ให้มีการเผาพื้นที่ริมทางหลวงโดยเด็ดขาด และให้ใช้งบประมาณกลุ่มจังหวัดเป็นหลักในการรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563
ทางด้านกระทรวงทรัพย์ฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีกรณีที่เกิดภัยพิบัติจากสถานการณ์หมอกควันขึ้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด และควรให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายและผลกระทบจากไฟป่าและหมอกควัน ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในทุกกลุ่มเป้าหมาย สร้างเครือข่ายภาคีในพื้นที่ให้เพิ่มขึ้น และเพิ่มศักยภาพของภาคีให้มีความเข้มแข็งในการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
นี้คือนโยบายฯปี 63 ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่ต่างจากปีก่อนๆ หน้านี้ โยนให้ภูมิภาครับไปดำเนินการ สำเร็จหรือล้มเหลวก็ขึ้นอยู่กับภูมิภาค ส่วนกลางก็ลอยตัวจิบไวน์กันไป ถ้าไม่ได้ผลก็โดนเฉ่ง นโยบายที่ขาดแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเช่นนี้ การบริหารจัดการจึงขึ้นอยู่กับภูมิภาคจังหวัด ท้องถิ่นอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่บนลงล่างเป็นหลัก ประสิทธิภาพและคุณภาพ หรือจะขยับมากกว่านโยบาย ก็ขึ้นอยู่ความสามารถของผู้บริหารแต่ละระดับที่พอตัดสินใจได้ สุดท้ายก็กลับมาหากฎหมายตามเคย
การห้ามชาวบ้านเข้าป่าโดยเด็ดขาด การประกาศตัดสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบคทช. และการประกาศจะปิดป่าที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านๆมา ล้วนเป็นตัวอย่างของยาแรงจากรัฐบาลกลางที่ออกนโยบายโดยไม่มีแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการร่วมศูนย์อำนาจจัดการไฟป่าอย่างชัดเจน
ตอน 6 รวมศูนย์อำนาจ จัดการไฟป่า ล้มเหลว
นโยบายที่ขาดแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องของรัฐบาล การบริหารจัดการไฟป่าจึงขึ้นอยู่กับราชการรวมศูนย์ ในภูมิภาคจังหวัด ท้องถิ่นอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่บนลงล่างเป็นหลัก หรือที่เรียกว่าระบบ Single command โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอบัญชาการแก้ไขปัญหาตามลำดับชั้น
แผนงานและกิจกรรมแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าจะถอยหลัง ย้ำเท้าอยู่กับที่ หรือจะมีความก้าวหน้า ก็อยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกับนายอำเภอ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ว่าจะดำเนินการอย่างไรในแต่ละปี ภายใต้กรอบงบประมาณที่ไม่รู้เอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ในการสนับสนุนโครงการฯ เพราะแต่ละปี มีงบประมาณสนับสนุนภารกิจไฟป่าน้อยมาก ระดับจังหวัดได้เพียงไม่กี่ล้าน เมื่อกระจายให้อำเภอต่างๆ ได้กันเพียงหลักหมื่นหลักแสนบาท จะให้อำเภอและจังหวัดจัดทำแผนงานและกิจกรรมแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าที่มากไปกว่าที่ผ่านมาได้อย่างไร
ถึงกระนั่น ภูมิภาคจังหวัดและอำเภอใช้ว่าจะทำไม่ได้ หากเปลี่ยนบทบาทใหม่เข้ามาทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อย่างปราศจากอคติต่อบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรต่างๆ หรือแม้กระทั้งสิ่งดีๆที่ผู้ว่าฯนายอำเภอหลานท่านเคยทำไว้ ก็สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางและพัฒนาต่อยอดขึ้นไปได้
ในทางตรงกันข้าม หากไม่ยอมเหยียบรอยเท้ากัน ต้องนับหนึ่งใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้ว่าฯและนายอำเภอ สุดท้ายคนที่เหนื่อยก็คือผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต้องวิ่งตามนายสั่ง หากแต่ผู้ที่เหนื่อยกว่าก็คือผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ซึ่งปรับตัวไม่ทันกับแนวทางที่เปลี่ยนแปลงไปสะเปะสะปะ ทำให้ผู้นำและชาวบ้านเหนื่อยหน่าย ให้ความร่วมไม้ร่วมมือลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ยิ่งใช้อำนาจตามระเบียบกฎหมายมาบีบบังคับ แม้จะได้งานเสร็จเป็นครั้งๆ ไป แต่ก็ไม่สำเร็จและได้ใจคนและชุมชน ในทางกลับกัน ถ้าต่อแผนเดิมโดยไม่พัฒนาให้ดีขึ้นไปและเพิ่มแนวทางและกิจกรรมใหม่ๆ การทำงานก็จะไม่ก้าวหน้าไป ย้ำเท้าอยู่กับที่ให้เสร็จเป็นปีๆไป
ข้อมูลข้างล่างนี้ คือแผนงานและกิจกรรมโครงการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือบน 1 ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ปีพ.ศ.2560 - 63 ย้อนหลังไป 4 ปี มีแผนงานและกิจกรรมเช่นนี้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานาน ส่วนงบประมาณก็สูญไปกับการประชุม/อบรม จ่ายไปกับค่าอาหาร เครื่องดื่ม ค่าพาหนะ และค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่เป็นส่วนใหญ่ ไม่มีงบประมาณก้อนไหนกระจายถึงชุมชนแม้แต่น้อย
แผนงาน |
กิจกรรม |
ปีพ.ศ.2560 |
ปีพ.ศ.2561 |
ปีพ.ศ.2562 |
ปีพ.ศ.2563 |
1
การดำเนินการเชิงปฏิบัติการเพื่อหามาตรการป้องกันมลพิษหมอกควันไฟป่า |
1.1 ประชุม/อบรม |
ü |
ü |
ü |
ü |
1.2 สนับสนุนหมู่บ้านนำร่อง |
ü |
ü |
ü |
ü |
|
2. เฝ้าระวังลาดตะเวร |
2.1 สนับสนุนปกครองอำเภอ |
ü |
ü |
ü |
ü |
2.2 จัดราษฏรอาสาสมัครป้องกันไฟป่า |
ü |
ü |
ü |
ü |
|
3. ประชุมสัมมนาถอดบทเรียน |
|
ü |
ü |
ü |
ü |
4. บริหารโครงการและติดตามผลฯ |
|
ü |
ü |
ü |
ü |
อ้างอิง : ข้อมูลโครงการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือบน
1 ปี 60-63
http://www.osmnorth-n1.moi.go.th/new/project.php?year=2563
แผนปฏิบัติการเพื่อหามาตรการป้องกันมลพิษหมอกควันไฟป่า ก็ทำกันมาทุกปีโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ถ้าเพิ่มเติมจากนี้ก็เป็นเรื่องของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะบัญชาการเป็นเรื่องๆ ไป เช่น แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าจังหวัด ออกประกาศช่วงห้ามเผา บังคับใช้กฎหมาย อยู่ที่ผู้ว่าฯเป็นหลัก หากการประกาศเขตภัยพิบัติ แม้จะมีอำนาจตามกฎหมายแต่ก็ไม่ดำเนินการใดๆ เนื่องจากนายไม่อนุญาตบ้าง กลัวว่าจะไปกระทบกับการท่องเที่ยวบ้าง
จึงทำให้คนเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน
ต้องทุกข์ทนทรมานกับปัญหาหมอกควันไฟป่าเป็นประจำทุกปี
ภายใต้แผนงานและกิจกรรมที่ย้ำเท้าอยู่กับที่ ภายใต้อำนาจที่มีอยู่พอควรในการจัดการปัญหา
แต่ทว่าไม่สามารถบูรณาการภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
แม้จะมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าจังหวัด
ก็สักแต่ตั้งกันไปให้เห็นว่ามีองค์ประกอบหลากหลายมาร่วมกันแก้ปัญหาเท่านั้น
การเสนอแนะต่างๆ ทั้งในเวทีและนอกเวทีมีแต่รับรู้รับทราบ
ไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้
ส่วนกรมป่าไม้กรมอุทยานก็เดินตามแผนงานปกติของต้นไป
ไม่สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการจัดการไฟป่าแต่อย่างใด
ทั้งยังไม่เชื่อมั่นว่าชุมชนจะจัดการได้อีก
อันที่จริงการรวมศูนย์อำนาจจัดการไฟป่า
ภายใต้นโยบายที่ขาดแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องของรัฐบาลนั้น
หากมองกันในแง่บวกก็จะเป็นโอกาสที่ราชการรวมศูนย์
ทั้งภูมิภาคและท้องถิ่นจะแสดงศักยภาพได้อย่างเติมที่
ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณที่ได้มาในแต่ละปี โดยดึงคนเก่งคนดีเข้ามาช่วยบริหารจัดการได้
ซึ่งหลายฝ่ายพร้อมที่จะช่วยอยู่แล้ว แต่พอเลือกใช้อำนาจผ่านกลไกมหาดไทย
ในท้องถิ่นก็ให้นายอำเภอบัญชาการกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน
ล่ามไปล้วงกระเป๋าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานป่าไม้ในระดับพื้นที่
จึงขาดดอกไม้หลากสีที่จะช่วยแก้ไขปัญหา
ต่อเมื่อควบคุมไฟป่าไม่ได้
ก็หันมาใช้มาตรการทางกฎหมาย สั่งปิดป่า
สั่งจับกุมบุคคลเข้าป่าอย่างบ้าคลั่งและอ้างเหตุผลวิบัติในการจัดการกับชาวบ้านและชุมชนที่อยู่ในป่า
โดยไม่สนใจประกาศห้ามเผาที่ผ่อนปรนให้กับบุคคลที่จำเป็นต้องใช้ไฟสามารถดำเนินการได้
แต่ให้แจ้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายอำเภอเพื่ออนุญาต
การไม่ย่อมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ผ่อนปรนประกาศห้ามเผาของผู้มีอำนาจ
ทำให้ชาวบ้านที่ต้องใช้ไฟในการเตรียมปลูกพืชฤดูฝนเป็นห่วงกังวลว่าจะไม่ได้เพาะปลูกในฤดูกาลใหม่
การเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนดการชัดเจน
เป็นเหตุทำให้เกิดปฏิบัติการดื้อเพ่งแบบเงียบๆ ของผู้นำชุมชนและชาวบ้าน
จนบานปลายกลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายๆครั้งที่ผ่านมา
ยิ่งมีการจับกุมคุมขังชาวบ้านที่ย่อมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ผ่อนปรนประกาศห้ามเผา
ทำให้พวกเขายิ่งเห็นความไม่เป็นธรรมมากขึ้นเท่านั้น
ตอน 7 ความขัดแย้งทางตรงและเชิงโครงสร้าง
ความขัดแย้งทางตรงและเชิงโครงสร้าง เป็นความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทยจนยากจะแก้ไขหรือก้าวข้ามไปได้ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้านด้วยกันเอง ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับผู้นำชุมชน ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานในระดับพื้นที่ เจ้าหน้าที่กับนายภายในองค์กร ความขัดแย้งระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติ ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงาน ซึ่งสะสมทับถมมาเนินนานโดยไม่ยอมปรับปรุงแก้ไข กลายเป็นความขัดแย้งทางตรงที่ไม่ได้มุ่งประสงค์แต่ตัวบุคคลเท่านั้น หากแต่ยังขยายไปถึงพื้นที่รับผิดชอบโดยตรงของบุคคล องค์กร และรัฐบาลอีกด้วย
การกลั่นแกล้ง ประชดประชัน การแก้แค้น ท้าทาย หรือที่เรียกว่าไฟการเมือง จึงเกิดขึ้นเนื่องๆ ในรอบ 2 ปีให้หลัง ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เกิดจากระบบ ระเบียบ กฎหมาย และนโยบายของรัฐบาล ที่สร้างสมความคับข้องใจให้กับผู้คนและชุมชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
การจำกัดสิทธิการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เสมอภาคกัน ได้สร้างความเหลื่อมล้ำและอึดอัดคับข้องใจในความไม่เป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง หรือแม้ระบบลูกน้องเจ้านาย ระเบียบที่ยุ่งยากเยิ่นเย้อหยุมหยิมจนเข้าไม่ถึง ทำงานมุ่งเพียงรักษากฎหมายมากกว่ารักษาป่า หรือใช้กฎหมายนำในการแก้ไขปัญหา เช่นกรณีชาวบ้านเตรียมเข้าป่าแต่มาถูกจับกุมตามคำสั่งปิดป่า ดราม่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไร่หมุนเวียน ตำบลนาเกรียน อำเภออมก๋อยในปีที่ผ่านมา รวมไปถึงนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับภูมินิเวศวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลายในความเป็นไทย นโยบายห้ามเผาที่กระทบกับปากท้องของชาวบ้านและการบริหารจัดการไฟในระดับพื้นที่ การตอบโต้ของราชการรวมศูนย์ที่ทำให้สังคมเห็นว่าชาวบ้านและกลุ่มชาติพันธุ์เป็นคนเผาป่าโดยกรมป่าไม้ มีแต่จะซ้ำเติมบาดแผลให้ร้าวลึกยากจะหยุดไฟป่าได้ จนทำให้เกิดความสูญเสียมากมายซึ่งไม่เฉพาะแต่เพียงชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น หากแต่ยังสูญเสียป่าอันอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ต้นน้ำ และส่งกระทบไปยังสุขภาพของประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมวงกว้างอีกด้วย
ปัญหาเชิงโครงสร้าง
ที่นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงทางตรงดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ได้ถูกโต้กลับจากบุคคล
ชุมชน สังคม และองค์กรต่างๆ ทั้งในด้านบวกและด้านลบควบคู่กันไป
ในด้านบวก ความรุนแรงของไฟป่า ทำให้เกิดภาพแห่งความประทับใจ ความร่วมไม้ร่วมมือของบุคคลและชุมชนในการดับไฟป่ากระจายทั่วทุกพื้นที่ จนมีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดับไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง เห็นการหนุนเสริมจากคนในเมืองสู่ชุมชนอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือดับไฟป่า อุปกรณ์ป้องกันไฟป่า อาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงการก่อเกิดขึ้นของกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาช่วยดับไฟป่า ออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันอย่างจริงจัง และร่วมกันเสนอทางออกอย่างสร้างสรร หรือช่วยกันทำสื่อเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ให้สังคมได้รับรู้ทั่วถึงกัน
แต่น่าเสียดายที่หลายๆกรณี ความปรารถนาดีถูกตีความว่าเป็นการเปิดโป่งปัญหาไฟป่าจากราชการรวมศูนย์ ที่พยายามรักษาภาพลักษณ์องค์กรไว้ ไม่ให้เห็นขยะใต้พรมของตน จนต้องออกมาปกป้อง ห้ามเผยแพร่ภาพมุมสูง ห้ามโดรนอาสาบินเข้าไปในเขตพื้นที่อุทยาน หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง ดังเช่นกรณีการเสียชีวิตของหัวหน้าหน่วยดับไฟป่าแม่เหียในปีที่ผ่านมา แทนที่จะค้นหาความจริงโดยตั้งคณะกรรมหลายฝ่ายสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิต เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขและรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรไว้ แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้ระบบเจ้านายลูกน้องกัดกร่อนจิตใจคนทำงาน และกัดกร่อนองค์กรต่อไปโดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้รับการปรับปรุงแก้ไขเสียที
ด้านลบ พบความขัดแย้งมากมายที่นำไปสู่ความรุนแรงโดยการใช้ไฟตอบโต้ เช่น ใช้ไฟกลั่นแกล้งคู่กรณี ใช้ไฟแก้แค้นแทนญาติพี่น้องที่ถูกจับดำเนินคดี ใช้ไฟท้าท้ายผู้นำที่ไม่ใช้พวกของตน ใช้ไฟท้าทายกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้ไฟแก้แค้นจากการถูกยึดคืนพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ใช้ไฟเพื่อหวังผลประโยชน์อื่นใดทั้งในหมู่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงปฏิบัติการค่ำบาตร การดื้อแพ่ง ไม่ยอมรับคำสั่งหรือประกาศใดๆ จากผู้มีอำนาจในหมู่ผู้นำและชาวบ้านที่หมดความเชื่อมั่นในนโยบายห้ามเผาที่ไปกระทบกับปากท้องของชุมชนจนต้องปฏิบัติการแบบเงียบๆ ไปในแต่ละพื้นที่ จนยากจะจับตัวดำเนินคดีได้ หรือได้ก็เพียงไม่กี่รายที่ถูกจับกุมดำเนินคดี ถูกยึดคืนพื้นที่ แต่ก็มีคำถามจากสังคมมากมายอีกเช่นกัน กับมาตรฐานและมาตรการทางกฎหมาย ยิ่งกรมป่าไม้โต้กลับด้วยการทำให้สังคมเห็นว่าชาวบ้านและกลุ่มชาติพันธุ์เป็นคนเผาป่า ยิ่งจะซ้ำเติมบาดแผลแห่งความขัดแย้งกว้างออกไป ทำให้บุคคลที่ถูกดำเนินคดีและญาติพี่น้องรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีความเป็นธรรมกับตนและคนใกล้ชิด
สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวมานี้ เป็นการแสดงออกของผู้คนในสังคมและชุมชน เป็นภาพแห่งความยุ่งเหยิงที่ย้อนแย้งกันอยู่ในที โดยที่ราชการรวมศูนย์ไม่เคยเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน...
ขณะที่ปัญหาไฟป่ามีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง โดยไม่รู้อีกนานเท่าไหร่....? ที่ราชการรวมศูนย์จะรู้สึกตัว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น