แม่แจ่ม จุดเปลี่ยนแห่งทศวรรษ

 

อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีเศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชนเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมายาวนาน กระทั้งปัจจุบันแม้มีเศรษฐกิจใหม่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตผู้คน แต่เศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชนก็ยังคงเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างอาชีพรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนทุกชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนพื้นเมือง ปกาเกอะญอ ม้ง และละว้า

          มาถึงเวลานี้ ถ้าจะบอกว่าเศรษฐกิจอำเภอแม่แจ่มปัจจุบันขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน ทั้งเศรษฐกิจใหม่และเศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชนก็คงไม่ผิดนัก หากจะบอกว่าเศรษฐกิจ“๑ เมือง ๒ แบบ”ย่อมได้          

 เศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชน

นับว่าเป็นรากฐานสำคัญของทุกชาติพันธุ์ในอำเภอแม่แจ่ม ที่ได้รับการต่อยอดจาก“โภคภัณฑ์”มาเป็น“ผลิตภัณฑ์” แต่ที่พอทำกันเป็นล้ำเป็นสันในขณะนี้ คงหนี้ไม่พ้นผ้าซิ่นตีนจก เสื้อผ้ากระเหรี่ยง เสื้อผ้าชาติพันธุ์ม้ง และผ้าท้อชาติพันธุ์ลั๊วะ ซึ่งมีลวดลายงดงาม เป็นงานทำมือที่มีความละเอียดประณีต ให้สีสันสวยงามตระการตา ใช้เวลาเป็นสัปดาห์เป็นเดือนในการถักทอก่อรูป เป็นเส้น เป็นสาย เป็นดอก เป็นลวดลาย เป็นผืน ที่ยืนอยู่บนความคิดความเชื่อชีวิตหลังความตายในพุทธศาสนา หรือว่าตั้งอยู่บนฐานของวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อของแต่ละชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันไป

วันนี้ ได้ถูกหยิบยกและพัฒนาขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ ที่สร้างอาชีพรายได้ให้กับคนอำเภอแม่แจ่มไม่น้อยตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ดังปรากฏให้เห็นเป็นประจำทุกปี ในงาน“มหกรรมผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่าแม่แจ่ม” ผืนผ้างดงามทุกชาติพันธุ์ จะถูกนำประกวดและจำหน่ายตลอดงาน แม้กระทั่งในยามปกติทั่วไป ก็หาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าต่างๆในชุมชนและบนโลกออนไลน์ บางคนถึงกับส่งตรงไปขายต่างประเทศก็มี

          นี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผลิตภัณฑ์ ที่มาจากเศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชน จนพัฒนาเป็นอาชีพรายได้ ให้คุณค่าเป็นหน้าเป็นตาให้กับอำเภอแม่แจ่มมานาน

แต่โภคภัณฑ์ที่พัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ สร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชนใช่มีเพียงเท่านี้ที่สามารถเรียนรู้และพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักสาน เครื่องใช้สอยภายในบ้าน เครื่องใช้ในครัวเรือน อาหาร ยารักษาโรค เครื่องดื่มต่างๆ ถ้าเรียนรู้และพัฒนามาเป็นอาชีพรายได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชนขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว และเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจมหาภาคแข็งแกร่ง เช่น เหล้ากลั่นที่ทำจากข้าวโพดของชาติพันธุ์ม้ง เหล้าหมัก(เหล้าเดือน)ที่ทำจากข้าวเหนียวของคนพื้นเมือง ซึ่งเป็นเหล้าที่ชาวบ้านใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของชาติพันธุ์ม้งและคนพื้นเมืองมาช้านาน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องจักสานฯลฯ ถ้ารวมกลุ่มกันเรียนรู้และพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ จะทำให้เศรษฐกิจแม่แจ่มที่พึ่งพิงกับเศรษฐกิจใหม่ซึ่งอ่อนไหวง่าย เติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

๒ เศรษฐกิจใหม่

เศรษฐกิจใหม่ในอำเภอแม่แจ่ม คือเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมชุมชนดังเดิม แต่เพิ่มอาชีพรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในอำเภอแม่แจ่มมหาศาล พอแบ่งออกเป็น 3 ภาคส่วนด้วยกันคือ ภาคการเกษตรใหม่ ภาคบริการ-การท่องเที่ยว และการพาณิชย์

๒.๑ ภาคการเกษตรใหม่ เติบโตต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีครอบครัวที่ประกอบอาชีพเกษตรกรสูงถึง 12,543 ครัวเรือน(จาก 19,602 ครัวเรือน) ในจำนวนนี้มีเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 8,903 ครัวเรือน(ปี2564) ถ้าเอาข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นตัวตั้ง ก็จะเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจภาคการเกษตรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

จากข้อมูลสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ในปีพ.ศ.2544 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพียง 18,834 ไร่ พอในปีพ.ศ.2554 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 105,456 ไร่ ในอีก 10 ปีต่อมาพ.ศ.2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 136,307 ไร่ สร้างอาชีพรายได้ให้กับเกษตรกร 8,000 กว่าครอบครัวราว 634 ล้านบาท/ปี

ขณะที่พืชเศรษกิจอื่นอีก 11 รายการที่ปรากฏในตารางนี้ เป็นตัวเลขเฉพาะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเกษตรอำเภอเท่านั้น ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่ไม่ได้จดแจ้งหรือมาจดแจ้งน้อยมาก เช่น กะหล่ำปลี ฟักทอง และพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงอื่นๆ เช่น สตอเบอร์รี่ ลูกพลับ สาลี มะเขือเทศ ซึ่งปลูกกันมากพอควรบนพื้นที่สูงในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ สร้างอาชีพรายได้ให้กับเกษตรกรมหาศาล

จากตารางมูลค่าสินค้าการเกษตร 12 อันดับอำเภอแม่แจ่ม โดยตัดข้าวจ้าวนาปี ข้าวหนี่ยวนาปี ออกไป เนื่องจากส่วนใหญ่ปลูกไว้กินในครอบครัวเป็นหลัก ส่วนมะม่วงแม้จะมีพื้นที่ปลูกกันพอควร แต่ความหลากหลายของสายพันธุ์ที่มีราคาต่างกันมากจึงยากแก่การประเมินราคา ถ้าดูเฉพาะพืชเศรษฐกิจ 9 อันดับที่พอจะประเมินราคาเฉลี่ยได้ก็จะเห็นชัดว่า มูลค่าสินค้าเกษตรใหม่ในพ.ศ.2564 ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้มีมูลค่าสูงมาก นี้ยังไม่รวมพืชเศรษฐกิจมูลค่าปานกลางและมูลค่าสูงอื่นๆอีกหลายรายการ ดังนั้นก็จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจการเกษตรใหม่ในอำเภอแม่แจ่มแต่ละปี มีสร้างมูลค่ามหาศาล

ถึงกระนั้น เกษตรกรก็มีต้นทุนต่อไร่ที่ต้องจ่ายสูงตามไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงงาน ค่าขนส่ง ตัวอย่างกรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้นทุนเหล่านี้มีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึง 3,700 ไร่ นั้นก็หมายความว่ามีกำไรอยู่ที่ 26% หรือราว 956 บาท/ไร่ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่ปริมาณผลผลิตกับราคาที่ขายได้ ถ้าผลผลิตสูง ความชื้นต่ำ ราคาขายก็จะสูงตามขึ้นไปด้วย

พืชเศรษฐกิจตัวอื่นก็เช่นกัน หลายชนิดมีต้นทุนสูงกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก หากแต่เป็นเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง ประกอบกับเกษตรกรปรับตัวมาเป็น“ผู้ประกอบการเกษตร” ทั้งขั้นตอนการเพาะปลูกและจัดจำหน่าย มีคนงานคอยจัดการทุกอย่างให้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ขายตรงไปยังผู้บริโภคและคู่ค้าในตลาดใหญ่ๆ จึงมีกำไรเพิ่มสูงขึ้น

แต่อย่างไรเสีย ผลิตผลการเกษตรเหล่านี้ พูดได้ว่า 100% เป็นการขายผลิตผลสดจากไร่และสวน แทบไม่มีผลิตผลการเกษตรตัวไหนที่ถูกนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม (นอกจากกาแฟที่แปรรูปจากเชอรี่เป็นกะลาและ-)พัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น

และนี้คือโอกาสเรียนรู้และพัฒนาผลิตผลให้เป็นผลิตภัณฑ์การเกษตรมูลค่าสูง เพื่อรองรับภาคบริการ-ท่องเที่ยวและการพาณิชย์ในอำเภอแม่แจ่ม อย่างเช่นในวันนี้ นอกจากผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่สร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชนให้กับอำเภอแม่แจ่มแล้ว แทบไม่มีผลิตภัณฑ์อื่นใดนอกเหนือไปจากนี้ที่ให้นักท่องเที่ยวมาจับจ่ายได้ นี้เป็นโจทย์ใหญ่ของอำเภอแม่แจ่มที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน

๒.๒ ภาคการท่องเที่ยว เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจใหม่ในอำเภอแม่แจ่ม ที่กำลังเติบโตและสร้างรายได้ให้กับคนแม่แจ่มในช่วงไฮซีซั่นและอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาและภูเขาสูงชัน มีทิวทัศน์งดงาม ท้าทาย ทำให้อำเภอแม่แจ่มกลายเป็นที่แห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวสายแอดเวนเจอร์(Adventure-ผจญภัย) ที่ต้องการมาสัมผัสประสบการณ์ใหม่มากขึ้นต่อเนื่องในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

ถ้าจะบอกว่า การเข้ามาวิ่งเทรลท้องที่อำเภอแม่แจ่มช่วงวันที่ 31 สิงหาคม-1 กันยายน พ.ศ.2562 และจัดต่อมาทุกปี เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้คนรู้จักอำเภอแม่แจ่ม ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ตื่นเต้น ท้าทาย วิวสวย ก็ไม่ผิดไปเสียทีเดียวนัก พร้อมๆกับการเกิดขึ้นของที่พักแบบแคมปิ้ง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ ทยอยเปิดตัวตามจุดชมวิวในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดอยหมื่นหมาก ตำบลท่าผา จุดชมวิวบ้านบนนา  ตำบลช่างเคิ่ง ดอยหกสิบม่อน ตำบลปางหินฝน และล่าสุดดอยบาหลูโข่ ตำบลบ้านทับ ที่เพิ่งเป็นที่รู้จักกันในช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 นับเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายปี หลังจากที่เกิดขึ้นกับนาขั้นบันไดบ้านป่าบงเปียงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

เหล่านี้คือ ปรากฎการณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวสายแอดแวนเจอร์ที่เกิดขึ้นในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะเข้ามาแทนที่การท่องเที่ยวสายวัฒนธรรมแบบดังเดิมที่ไปเดินดูนั่นนี้โน้นแล้วกลับ ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ไม่มากนักแม้จะรีวิวหรือประชาสัมพันธ์อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับสายแอดแวนเจอร์ในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งคนหนุ่มคนสาวและวัยกลางคนที่ชอบแนวผจญภัยไปกับการเดินทางในสถานที่แปลกหูแปลกตา และถ้าหากว่านี้ก็คือNeed-ความต้องการของนักท่องเที่ยวสายแอดแวนเจอร์แล้ว อำเภอแม่แจ่มคือแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้หลากหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นแคมปิ้ง แท๊คกิ้ง วิ่งเทรล ซิบไลน์ เรือคายัคทัวร์ริ่ง ล่องแพ และอื่นๆได้ไม่แพ้ที่ไหนๆ

ถ้าย้อนดูรายได้การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่สะสมเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2566 จากข้อมูลสรุปสถานการณ์พักแรม จำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2566 กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเชียงใหม่สูงขึ้น 24.19% จากปี 2565 ซึ่งมีจำนวน 7,626,274 คน ขยับขึ้นมาเป็น 9,471,158 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทย 6,923,427 คน ต่างชาติมีเพียง 749,746 คนเท่านั้น สร้างรายได้ร่วม 75,110.16 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคนไทยอีกเช่นกัน มากถึง 44,452.31 ล้านบาท ขณะที่ต่างชาติมีเพียง 6,482.26 ล้านบาทเท่านั้น เฉลี่ยรายจ่ายต่อคนอยู่ที่ 7,930 บาทในปีพ.ศ.2566

งบรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่จำนวนนี้ ตกมาที่อำเภอแม่แจ่มเท่าไหร่ไม่มีข้อมูลรายอำเภอ ถ้าประเมินจากการสังเกตนักท่องเที่ยวเข้าอำเภอแม่แจ่มช่วงปลายปีพ.ศ.2566 ถึงต้นปีพ.ศ.2567 แล้ว แนวโน้นตกไปอยู่กับโรงแรมที่พักที่มีอยู่มากถึง 26 กว่าแห่งในอำเภอแม่แจ่มเสียมากกว่า รองลงมาน่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ส่วนพ่อค้าแม่ขายในตลาดพึ่งรายได้จากคนภายในเสียมากกว่า

นี้คือโจทย์สำคัญที่ต้องมาคิดร่วมกันที่จะกระจายรายได้การท่องเที่ยวในอำเภอแม่แจ่มให้ทั่วถึงได้อย่างไร...? เป็นอีกโจทย์หนึ่งซึ่งต้องมาขบคิดกัน นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ต้อง Need นักท่องเที่ยวสายแอดแวนเจอร์

๒.๓ ภาคการพาณิชย์ เติบโตแบบก้าวกระโดดเกือบทศวรรษที่ผ่านมา อยากซื้อหาอะไร ไม่ต้องออกไปไกลถึงอำเภอจอมทองและเมืองเชียงใหม่เหมือนสมัยก่อน วันนี้อำเภอแม่แจ่มมีร้านสะดวกซื้อชื่อดังผุดขึ้นมากถึง 5 แห่ง ร้านกาแฟในเขตเทศบาลและใกล้เคียงไม่น้อยกว่า 20 แห่ง ร้านขายของถูกราวๆ 5 แห่ง มินิมาร์ทอาหารสด 5 แห่ง อู่ซ่อมรถยนต์เขตเทศบาลและใกล้เคียงไม่น้อยกว่า 10 แห่ง สถาบันการเงินไม่น้อยกว่า 8 บริษัท โกดังรับซื้อพืชผลการเกษตรในเขตเทศบาลและใกล้เคียงราวๆ 8 แห่ง โรงแรม-บ้านพัก-รีสอร์ทอีกราว 26 แห่ง

อำเภอแม่แจ่มวันนี้ ไปทางไหนก็จะเห็นร้านต่างๆเหล่านี้ ที่พัก โรงแรม รีสอร์ท ร้านกาแฟ สถาบันการเงิน อู่ซ่อมรถ และโกดัง กระจายอยู่ทั่วทั้งในเขตเทศบาลและใกล้เคียง จำนวนไม่น้อยเป็นผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ในอำเภอแม่แจ่ม เว้นแต่ร้านขายของถูกและสถาบันการเงินเท่านั้นที่เป็นคนนอกพื้นที่

จากข้อมูลรายได้จากการจัดเก็บภาษีของสำนักงานสรรพกรพื้นที่เชียงใหม่ 1-2 จำแนกตามประเภทภาษี เป็นรายอำเภอ พ.ศ.2559 พบว่า อำเภอแม่แจ่มเก็บภาษีรายได้ร่วมอยู่ที่ 12.6 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่มเก็บได้มากสุด 5.3 ล้านบาท รองลงมาเป็นภาษีบุคคลธรรมดา 4.9 ล้านบาท ภาษีนิติบุคคล 1.8 ล้านบาท ที่เหลือเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (เกี่ยวกับการเงิน ธนาคาร โรงรับจำนำ)  อากรแสตมป์ ประเภทละ 0.3 ล้านบาท และอื่นๆ(เช่น ภาษีป้าย บำรุงท้องที่ โรงเรีอนสิ่งปลูกสร้าง) อีก 0.1 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีอยู่ในอันดับที่ 16 ใน 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่

โดยรายได้ทั้งหมดเหล่านี้ เก็บจากรายได้-ทรัพย์สินต่างๆของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และรายได้จากการซื้อสินค้าและบริการในอำเภอแม่แจ่ม

          พอในปีพ.ศ.2561 จากตารางข้อมูลเปรียบเทียบ(ข้างล่างนี้)ก็จะเห็นชัดว่า รายได้รวมจากการจัดเก็บภาษีทางตรง ประเภทบุคคลธรรมดาลดลงเล็กน้อย เช่นเดียวกับภาษีทางอ้อมประเภทภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนอากรแสตมป์ทรงตัว ขณะที่ภาษีทางตรงประเภทนิติบุคคลเพิ่งสูงขึ้น พร้อมกับภาษีทางอ้อมประเภทธุรกิจเฉพาะ(เกี่ยวกับการเงิน ธนาคาร โรงรับจำนำ) และอื่นๆ (ภาษีป้าย บำรุงท้องที่ โรงเรีอนสิ่งปลูกสร้าง)

ซึ่งนั้นก็หมายความว่า ในปีพ.ศ.2561 การที่ภาษีทางตรงประเภทบุคคลธรรมดาลดลงเล็กน้อยนั้น ก็หมายรวมถึงรายได้-ทรัพย์สินต่างๆของบุคคลธรรมดาลดตามลงไป อยู่ในภาวะซบเซา ที่ต้องระมัดระวังในการซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ ส่งผลให้ภาษีทางอ้อมประเภทมูลค่าเพิ่มลดตามลงไป

ในตรงกันข้าม ภาษีทางตรงประเภทนิติบุคคล พร้อมกับภาษีทางอ้อมประเภทธุรกิจเฉพาะและอื่นๆที่เพิ่มตามมา ซึ่งนั้นก็หมายความว่า มีการลงทุนธุรกิจเฉพาะ ที่เกี่ยวกับการเงิน ธนาคาร และโรงจำนำ เพิ่มขึ้น ทำให้เก็บภาษีทางอ้อมประเภทอื่นๆ เช่น ภาษีป้าย บำรุงท้องที่ โรงเรีอนสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มตามขึ้นมา สอดรับการขยายตัวของร้านสะดวกซื้อ มินิมาร์ทเนื้อสด ร้านกาแฟ บ้านพัก โรงแรม รีสอร์ท อู่ซ่อมรถ และโกดัง รวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะสถาบันการเงินเอกชน เติบโตค่อนข้างสูงมากในรอบเกือบทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งนั้นก็หมายความว่า ภาวะหนี้สินเพิ่มขึ้นติดตามมา จนทำให้กำลังซื้อสินค้าบริการลดตามไป

เหล่านี้คือโจทย์สำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจแม่แจ่ม ที่มีลักษณะ ๑ เมือง ๒ แบบ คือเศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชนและเศรษฐกิจใหม่ ให้ก้าวหน้าก้าวไกลไปอีกขึ้น โดยเปลี่ยนโภคภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนให้เป็นผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าสินค้าวัฒนธรรมชุมชนและผลิตผลการเกษตรใหม่ รองรับภาคการท่องเที่ยวที่จะเติบโตในอนาคตอันใกล้ ให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม สร้างอาชีพรายได้ให้กับคนแม่แจ่มอย่างทั่วถึง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ข้อเสนอสีเขียว : แม่วากโมเดล รูปธรรมบูรณาการจัดการดินน้ำป่า สู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ภายใต้แม่แจ่มโมเดลและแม่แจ่มโมเดลพลัส

สมเกียรติ มีธรรม ฯ ป่าไม้ ที่ดินทำกินและเศรษฐกิจชุมชน ความยั่งยืนของการจัดการไฟป่า