ผ่ากึ๋นรัฐบาล : อดีต-ปัจจุบันกับการแก้ไฟป่า-หมอกควัน

ผ่ากึ๋นรัฐบาล : อดีต-ปัจจุบัน กับการแก้ไฟป่า-หมอกควัน

สมเกียรติ มีธรรม

กราฟข้างต้นเป็นข้อมูลการเกิดจุดความร้อนย้อนหลังไป 14 ปี จากเว็บไซต์ ASEAN Specialised Meteorological Centre ในภูมิภาคอาเซียน เป็น 14 ปีที่ภูมิภาคนี้เผชิญกับไฟป่ามาอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นตามลำดับ เมื่อกลับไปไล่เรียงลำดับมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการแก้ไขปัญหาไฟป่าของไทยจะเห็นว่า มติครม.มีการพูดถึงไฟป่าตั้งแต่ปีพ.ศ.2533 คือย้อนหลังไปร่วม 30 ปี ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ไฟป่าในประเทศไทยเริ่มสร้างความเสียหายต่อสภาพป่ามากขึ้นตามลำดับ รัฐบาลไทยถึงได้กำชับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้กวดขันดูแลอย่างใกล้ชิด ดังปรากฏในมติครม. 20 มีนาคม 2533 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปสั่งการกำชับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ให้กวดขันดูแลโดยใกล้ชิดเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อสภาพป่า
           อีก 5 ปีถัดมา มติครม. 17 มกราคม 2538 ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากปีพ.ศ.2533 คือให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลและระมัดระวังการเกิดไฟป่าเท่านั้น
         พอมาในปีพ.ศ.2540 มติครม. 19 สิงหาคม 2540 อนุมัติโครงการวางระบบเตือนภัยด้านการเกษตร ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ มีระยะเวลา 4 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาการเกิดภัยธรรมชาติด้านไฟป่า ส่วนงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ครั้นปีพ.ศ.2541 คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2541 มีมติเห็นชอบให้ใช้วิธีการทำฝนเทียม เพื่อดับไฟไหม้ป่าที่พรุโต๊ะแดง อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส
ผ่านมาอีกไม่กี่เดือน ไฟป่าในภูมิภาคอาเซียนได้สร้างปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลไทยจึงมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541 เห็นชอบหลักการของแผนปฏิบัติการ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหากรณีหมอกควันจากไฟไหม้ป่าในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อใช้เป็นแผนปฏิบัติการเฉพาะในปีนั่น

ภาพจากไทยพีบีเอส หมอควันจากไฟไหม้ป่าที่รัฐให้สัมทานบนเกาะเบอร์เนียว

แต่ว่าไม่เป็นผล รัฐบาลไทยจึงได้นำกรณีปัญหาไฟป่าเกาะสุมาตรา เบอร์เนียว กะลิมันตัน และบางส่วนคาบสมุทรมาเลเซียขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2542  เสนอให้ประเทศอินโดนีเซียเร่งพิจารณากำหนดกฎหมายควบคุมการเผาในที่แจ้ง (Zero burning policy) เน้นการจัดการที่ดีในพื้นที่การเพาะปลูกในเขตป่า ให้มีการเจรจาหารือระหว่างผู้ได้รับสัมปทานป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ พร้อมกับสนับสนุนให้รัฐมนตรีอาเซียนด้านหมอกควันประเทศต่างๆ ไปศึกษาดูงานการบังคับใช้กฎหมายการดับไฟป่า และการฟ้องร้องผู้กระทำผิด
           พอในปีพ.ศ.2543 คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2543 เห็นชอบให้กำหนดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันปลอดควันพิษจากไฟป่า ให้ทุกหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องรณรงค์หยุดการเผาป่าเพื่อลดหมอกควันในอากาศ จากนั้นอีก 2 ปีถัดมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับปัญหาไฟป่า โดยกำหนดเป็นนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดช่วยป้องกันและดับไฟป่าที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิโน่ (EL Nino) ที่จะเกิดขึ้นบริเวณแปซิฟิคเขตร้อนในช่วง 3 -6 เดือนข้างหน้า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545
           อีก 5 เดือนถัดมา คณะรัฐมนตรีมีมติ 4 มิถุนายน 2545 เห็นชอบและอนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมลงนามในข้อตกลงอาเซียนเรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement  on Tramsboundary Haze Pollution)  และเห็นชอบในหลักการกับการให้สัตยาบัน (Ratify) ต่อข้อตกลงอาเซียน
           ในปีพ.ศ.2546 คณะรัฐมนตรีมีมติ 22 กรกฎาคม 2546 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (คณะที่ 5) เห็นชอบ (1) ร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปจัดทำแผนปฏิบัติการในส่วนที่เกี่ยวข้อง (2)  เห็นชอบให้ประเทศไทยร่วมให้สัตยาบันต่อข้อตกลงอาเซียนเรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดนและมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการให้สัตยาบัน โดยข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและติดตามตรวจสอบมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอันเป็นผลเนื่องมาจากไฟบนพื้นดินและ/หรือไฟป่า ซึ่งควรจะต้องดำเนินการให้ลดลง โดยอาศัยความพยายามร่วมกันในประเทศ และความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ แต่ในทางปฏิบัติกลับเงียบหายไป
           ปลายปีพ.ศ.2546 คณะรัฐมนตรีมีมติ 16 ธันวาคม 2546 รับทราบแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาไฟป่าปี 2547 ดังนี้ (1) การป้องกันไฟป่า (2) การจัดการเชื้อเพลิง (3) การฝึกอบรม เพื่อเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล (4) การฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันไฟป่า (อส.ฟป.) (5) การเตรียมความพร้อมดับไฟป่า (6) การเตรียมความพร้อมดับไฟป่าในกรณีไฟป่ามีความรุนแรง (7) การเตรียมความพร้อมดับไฟป่าในพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ และ (8) ศูนย์ข้อมูลและรับแจ้งเหตุไฟป่า  และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี (กรมประชาสัมพันธ์) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการ ทั้งนี้ให้ใช้งบประมาณปกติที่แต่ละหน่วยงานได้รับในปีงบประมาณพ.ศ. 2547
           พอต้นปีพ.ศ.2547 คณะรัฐมนตรีมีมติ 13 มกราคม 2547 รับทราบการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อตกลงอาเซียนเรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Tramsboundary Haze Pollution) และการดำเนินงานตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่งเพื่อลดมลพิษ โดยมีประเทศที่ร่วมทำข้อตกลง 8 ประเทศ ได้แก่
          หลังลงนามข้อตกลงอาเซียน ในฤดูแล้งปีพ.ศ.2547 ปัญหาไฟป่าในไทยได้พุ่งสูงขึ้นเป็น 3 เท่าตัวของปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ 23 มีนาคม 2547 เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับไปกำหนดมาตรการในการป้องกันปัญหาไฟป่าอย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้านการปราบปรามผู้กระทำผิด หากพบว่าเป็นการกระทำของนายทุนเพื่อบุกรุกป่าให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด และการขยายผลให้ถึงการยึดทรัพย์บุคคลเหล่านี้ด้วย แต่หากเป็นการกระทำของประชาชนที่ต้องการพื้นที่ทำกินก็ให้ทำความเข้าใจเพื่อให้ยุติการกระทำดังกล่าว โดยให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สนับสนุนภารกิจ
           พอมาในช่วงปลายปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติ 12 ตุลาคม 2547 อนุมัติร่างแผนการจัดการมลพิษอากาศ จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปปรับร่างแผนดังกล่าว กำหนดมาตรการป้องกันไฟป่า แผนดับไฟป่าให้ชัดเจน ในส่วนมาตรการควบคุมไฟป่า ให้ขอเพิ่มหน่วยดับไฟป่า ทำงานเชิงรุก เน้นการป้องกัน และนำเอาหลักการ "ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา" (Pollnter Pay Principle - PPP) มาพิจารณา แต่ทว่าแนวคิดกลับไม่มีการพูดถึงอีกเลยตั้งแต่นั่นมา
           ในปีพ.ศ.2548 รัฐบาลได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหาไฟป่า โดยบูรณาการกระทรวงต่างๆ ดังนี้
1.  กระทรวงมหาดไทย            
1.1 ออกประกาศจังหวัดกำหนดเขตควบคุมไฟป่า และกำหนดระเบียบ ตลอดจนมาตรการ
ควบคุมไฟป่าในพื้นที่เขตควบคุมไฟป่า และกำกับดูแลให้มีการดำเนินการไปตามมาตรการที่กำหนด
1.2 ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการไฟป่าระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน
เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อในทุกระดับได้มี ส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่า
1.3 จัดทำแผนระดมพลดับไฟป่า ในสถานการณ์รุนแรงและวิกฤติเพื่อ บูรณาการกำลังพล
และทรัพยากรของทุกภาคส่วนมาช่วยในการดับไฟป่า
2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2.1 ส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้ประโยชน์จากเศษสิ่งเหลือทางการเกษตรแทนการเผา เช่น การ
นำไปทำปุ๋ยหมัก ทำแท่งเชื้อเพลิง หรือทำสิ่งประดิษฐ์
                     2.2 เร่งดำเนินการจัดทำฝนหลวงในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า
3. กระทรวงคมนาคม ให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท กำหนดมาตรการป้องกันการ เกิดไฟป่าจากเส้นทางกลางทุกสาย     
4. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังการใช้ไฟในพื้นที่ป่าไม้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ไฟป่า เช่น ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ในป่า ไม่ก่อกองไฟในป่า
5. กระทรวงกลาโหม สนับสนุนกำลังพลและอากาศยานในการดับไฟป่า เมื่อได้รับการร้องขอ
6. กระทรวงศึกษาธิการ สอดแทรกความรู้เรื่องการป้องกันไฟป่าลงในหลักสูตรการเรียนการสอน ทุกระดับของกระทรวงและประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนนักศึกษาทุกระดับการศึกษาป้องกัน รณรงค์ป้องกันในไฟป่า
           แต่ทว่าแนวทางดังกล่าวกลับไม่ได้ผล คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2548 เห็นชอบให้เชิญหน่วยงานและผู้ที่มีหน้าที่ปราบปรามการเผาทำลายป่า รวมทั้งประชาชนในเขตพื้นที่ที่มีการเผาทำลายป่ามาร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอีกครั้ง มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับไปดำเนินการเร่งด่วน โดยประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ตามปรากฎในรายงานคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2548
           หลังวิกฤติไฟป่าผ่านพ้นไป กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในทางปฏิบัติ โดยกำหนดเป้าหมาย ลดพื้นที่ไฟไหม้ป่าให้เหลือเพียงไม่เกินปีละ 300,000 ไร่ จัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรทดแทนการเผาในพื้นที่อย่างน้อย 600,000 ไร่ ภายในปี 2550 นำเอาเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรมาใช้เป็นพลังงานชีวมวลทดแทนการใช้พลังงานในเชิงพาณิชย์ คิดเป็นร้อยละ 21 และ 25 ของความต้องการใช้พลังงานในปี 2549 และปี 2554 ตามลำดับ ลดการเผาขยะมูลฝอยในที่โล่ง โดยจัดให้มีการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกหลักวิธีและปลอดภัย ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการไฟป่า 4 ด้านคือ คือ การป้องกันการเกิดไฟป่า การตรวจติดตามไฟป่า การปฏิบัติการดับไฟป่า  และการฟื้นฟูสภาพหลังเกิดไฟป่า
           แต่ทว่าแผนดังกล่าวกลับเป็นแพนนิ่ง นอกจากประกาศแล้วก็ประกาศ ในทางปฏิบัติไม่มีอะไรขยับไปมากนัก แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านอัคคีภัยแห่งชาติ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) เสนอ จากปีพ.ศ.2549-2559 เป็น พ.ศ.2549-2562
ซึ่งหมายความว่า ตั้งแต่ปีพ.ศ.2549-2562 เรายังใช้แผนฯเดิมในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่ามาถึงทุกวันนี้ เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ แล้วก็เสนอรัฐมนตรีรับทราบเป็นปีๆไป ขณะที่ปัญหาและสาเหตุของปัญหาใหญ่ขึ้น เชื่อมโ่ยงกันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่แผนเดิมไม่สามารถแก้ไขได้ หากรีบไม่ปรับปรุงแก้ไขเราก็จะเผชิญหมอกควัน-ไฟป่าเช่นนี้เป็นประจำทุกปีต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สมเกียรติ มีธรรม ฯ ป่าไม้ ที่ดินทำกินและเศรษฐกิจชุมชน ความยั่งยืนของการจัดการไฟป่า

แม่แจ่ม จุดเปลี่ยนแห่งทศวรรษ

ข้อเสนอสีเขียว : แม่วากโมเดล รูปธรรมบูรณาการจัดการดินน้ำป่า สู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ภายใต้แม่แจ่มโมเดลและแม่แจ่มโมเดลพลัส